ADS


Breaking News

GIT สร้าง “ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก” ผนวกเอไอบ่งชี้แหล่งที่มา ยกระดับการตรวจวิเคราะห์และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี พัฒนา “ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก(AI) ” ประยุกต์ใช้เอไอบ่งชี้แหล่งที่มา เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

     ดร.วิภารัตน์   ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดย วช. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าและทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ซึ่งในการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ที่ วช. ร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นในปีนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  หรือ GIT ได้มีการนำเสนอการพัฒนา  “ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก(AI) ”  ซึ่งมี นายชเนนทร์กันต์ จักรวาลวิบูลย์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ  เป็นหัวหน้าโครงการ และ ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เป็นหัวหน้าโครงการร่วม

     ผลงานดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เพื่อใช้ในการบ่งชี้แหล่งที่มาของอัญมณี  ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์อัญมณีของห้องปฏิบัติการอัญมณีของประเทศไทย  และยกระดับความเชื่อมั่นการบริโภคอัญมณีผ่านใบรับรองให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

    นายชเนนทร์กันต์  จักรวาลวิบูลย์   และ ดร.ภูวดล  วรรธนะชัยแสง เปิดเผยว่า  ปัจจุบันการระบุแหล่งกำเนิดของอัญมณีในใบรับรองอัญมณีกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากส่งผลต่อมูลค่าของอัญมณี  โดยในการระบุแหล่งกำเนิดนั้น ต้องใช้ข้อมูลทั้งองค์ประกอบทางเคมี และลักษณะทางสเปกโทรสโกปี ที่ได้จากการวิเคราะห์ของเครื่องมือขั้นสูงมาประกอบการพิจารณา ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมากและมีความซับซ้อนในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ  ทีมวิจัยนี้จึงนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI)  มาช่วยในการจัดกลุ่มข้อมูลแหล่งกำเนิดอัญมณีต่างๆ  เพื่อให้สามารถระบุแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการออกใบรับรองอัญมณี

     สถาบันฯ ได้ริเริ่มโครงการฐานข้อมูลอัจฉริยะอัญมณีโลก ตั้งแต่ปี 2563  โดยปีแรกได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณ  เพื่อเริ่มต้นจัดทำระบบฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดพลอยทับทิม ซึ่งเป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมในตลาดและมีมูลค่าสูง จากนั้นปี 2564-2565  สถาบันได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)ในการดำเนินโครงการปีที่2และ3  ซึ่งได้จัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พลอยไพลินและพลอยมรกต  ตามลำดับ  ส่วนในปี 2566  สถาบันมีแผนการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องโดยจะขยายขอบเขตไปยังพลอยชนิดอื่นๆ   เพื่อให้สามารถวิเคราะห์แหล่งกำเนิดได้ถูกต้องรวดเร็ว สนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย

    ทั้งนี้ “ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก (AI)” ในปีที่ 1-2 จะเป็นการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดของทับทิมและไพลินจากฐานข้อมูลองค์ประกอบเคมี ข้อมูลลักษณะเชิงโครงสร้าง ข้อมูลรูปแบบการเรืองแสงและการดูดกลืนแสง ซึ่งสัมพันธ์กับธาตุร่องรอยที่ให้สีในพลอย มีการทดสอบเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ เพื่อบ่งชี้แหล่งกำเนิดของทับทิมและไพลิน โดยดำเนินการพลอยตัวอย่าง (unknown samples) กับฐานข้อมูลที่จัดทำขึ้นด้วยโปรแกรมประมวลผลอัจฉริยะ ที่มีชื่อว่า “AI for Gem Origin Determination (AIGOD)” สำหรับเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดอัญมณี สำหรับห้องปฏิบัติการอัญมณีของสถาบัน ในการออกใบรับรองผล  ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและความแม่นยำในการตรวจรับรองที่สูงขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถวิเคราะห์แหล่งกำเนิดของทับทิมได้มีความถูกต้องมากกว่า 90 %

    นายชเนนทร์กันต์  กล่าวว่า  ฐานข้อมูลดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของนักอัญมณีศาสตร์ในการสรุปผล  การนำข้อมูลวิเคราะห์จากเครื่องมือขั้นสูงต่างๆ มาใช้ AI ในการจัดจำแนกและระบุแหล่งกำเนิด ทำให้สามารถสรุปผลแหล่งกำเนิดอัญมณีได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการระบุแหล่งอัญมณีในใบรายงานผลอัญมณี  ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบัน ทำให้เกิดการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว ส่งเสริมเศรษฐกิจให้มีเงินหมุนเวียนและสนับสนุนการส่งออกของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้อย่างยั่งยืน

    สำหรับองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ เริ่มจากการนำเทคโนโลยีเอไอ มาใช้ในการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดอัญมณี ผลการวิเคราะห์เหล่านี้จะเป็นข้อมูลดิจิทัลที่สามารถต่อยอดมาใช้กับการประมวลผลสีของอัญมณีที่สัมพันธ์กับแหล่งกำเนิด 

     สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลกคือ ตัวอย่างอัญมณีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์  เพื่อให้ได้ข้อมูลบรรจุลงในฐานข้อมูล ตัวอย่างดังกล่าวต้องได้มาจากแหล่งกำเนิดนั้น ๆ จริง จึงจะทำให้ฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์ ซึ่งในส่วนห้องปฏิบัติการอัญมณีระดับโลก จะมีการจัดตั้งทีมพร้อมเงินสนับสนุนในการเข้าถึงแหล่งกำเนิดอัญมณีที่สำคัญทั่วโลก พร้อมมีงบประมาณในการซื้อตัวอย่างอัญมณีที่เพียงพอในการจัดหาตัวอย่างที่เหมาะสมในการจัดทำฐานข้อมูลอัญมณี ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการออกใบรับรองอัญมณี  

     นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแหล่งกำเนิดใหม่ ที่ต้องมีการจัดหาตัวอย่างอัญมณีและจัดทำฐานข้อมูลให้ทันกับตลาดการค้าอัญมณีของโลกในปัจจุบัน ดังนั้น การทำวิจัยที่ต่อเนื่องและงบประมาณที่เพียงพอในการจัดหาตัวอย่างและการพัฒนาโปรแกรมและฐานข้อมูล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก สามารถช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้อย่างยั่งยืน  

     ทีมวิจัยคาดว่าความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้จะสามารถต่อยอดในการระบุแหล่งกำเนิดอัญมณีชนิดอื่นๆ รวมถึงการระบุชนิดและประเมินมูลค่าของอัญมณีต่อไปในอนาคต รวมถึงทำให้มีการขยายการเปิดห้องปฏิบัติการอัญมณีของไทยได้มากขึ้น  โดยสามารถนำฐานข้อมูลเดียวกันนี้ไปใช้กับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ในการออกใบรายงานผลอัญมณีที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นส่งเสริมตลาดการค้าอัญมณีของไทย และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระดับโลก