ชื่นฉ่ำ! “อมตะสยามที่เพชรบุรี” อว.ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นบรรเลงออเคสตร้า ณ วัดใหญ่สุวรรณาราม
ชุ่มฉ่ำ “อมตะสยาม”! อว. โชว์อัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านเสียงดนตรี ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี
อิสรพงศ์ ดอกยอ ร้องเพลง เจ้าการะเกด เนื้อร้องโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ทำนองเพลงแอ่วเคล้าซอ
เพลงเทพบันเทิง ทำนองแขกเชิญเจ้า หรือเพลงฟ้อนมาลัย ขับร้องโดย กมลพร หุ่นเจริญ โหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7
เพลงเหน่อ ขับร้องโดย นพพร เพริศแพร้ว
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
กมลพร หุ่นเจริญ |
นพพร เพริศแพร้ว |
อิสรพงศ์ ดอกยอ |
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ เป่าขลุ่ย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ ศิลปินแห่งชาติ อ่านบทกวี |
พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ผู้ควบคุมวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา |
ช่วงค่ำวันที่ 25 สิงหาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีบรรเลงเพลง “อมตะสยามที่เพชรบุรี” โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการแสดงดนตรีฯ พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายรัคมัต บูตีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่นให้การต้อนรับ อำนวยการแสดงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย…
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า งานแสดงดนตรี “อมตะสยามที่เพชรบุรี” เป็นการแสดงศิลปะดนตรีที่เป็นการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. โดยเอาเพลงพื้นบ้าน รวมทั้งเพลงโบราณมาแสดงออกในรูปแบบของวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการอนุรักษ์และต่อยอด รวมทั้งพัฒนาด้วยดนตรีพื้นบ้านอันเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของคนไทย ขณะเดียวกันการแสดงออกด้วยท่วงทำนองแบบวงซิมโฟนี ต่อไปก็จะเป็นที่ยอมรับได้ของคนทั่วโลก เพราะคนทั่วโลกคุ้นเคยกับดนตรีแบบซิมโฟนีมากกว่าแบบไทยเดิมของเรา ประเทศไทยนั้นไม่สามารถที่จะเดินด้วยขาเดียว คือ ขาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น จะต้องเดินด้วย 2 ขา ด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อจะนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเดินด้วย 2 ขา ขาหนึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กับอีกขาเป็นศิลปวัฒนธรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า มาแสดงที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ก็เพื่อจะนำบทเพลงเก่าเท่าที่จะหาได้จากเพชรบุรีและเพลงที่เกี่ยวข้องกับเพชรบุรีมาบรรเลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพลงที่ได้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนหนึ่งเป็นเพลงในยุครัตนโกสินทร์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพลงของเพชรบุรี บทเพลงเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น เรื่องราวของวิถีชีวิตคน รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคม สิ่งที่เหลืออยู่บอกถึงร่องรอยของเพชรบุรี บอกความสัมพันธ์และอิทธิพลการเมืองการปกครอง เพชรบุรีมีวิถีชีวิตเก่าแก่ที่ชาวเพชรบุรีภูมิใจมาก ได้นำเสนอแก่นักท่องเที่ยว เป็นการรักษาความเก่าแก่ของเมืองและวัฒนธรรมคู่เมืองเอาไว้ มีชาวเมืองและผู้คนจำนวนหนึ่งที่รักวัฒนธรรมดั้งเดิมและพยายามที่จะรักษาและนำเสนอให้คงอยู่ผ่านคนรุ่นใหม่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการแสดงดนตรี “อมตะสยามที่เพชรบุรี” เป็นผลสำเร็จจากโครงการพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างจินตนาการใหม่ โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชน ผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีในชุมชน ที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ในการดำเนินงาน ซึ่งบทเพลงที่มาบรรเลงในเวทีนี้เป็นบทเพลงที่สื่อถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น เรื่องราวของวิถีชีวิตคน รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมในจังหวัดเพชรบุรี อาทิ การแสดงคณะนักดนตรีพื้นบ้าน คณะละครเพชรสุมาพร เพลงของละครชาตรี ไหว้ครูเสภา รำถวายมือ รำซัดชาตรี บทกวี “เมืองเพชรบุรี” เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง เดี่ยวขลุ่ยเพลงลาวแพนออกซุ้ม เขมรปี่แก้ว เจ้าการะเกด และเพลงเพชรบุรีแดนใจ สิ่งที่เหลืออยู่บ่งบอกถึงร่องรอยของเพชรบุรี รวมถึงความสัมพันธ์และอิทธิพลการเมืองการปกครองได้เป็นอย่างดี บรรเลงดนตรีโดย วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ควบคุมวงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลงโดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง การใช้งานวิจัยมาต่อยอดดนตรีพื้นบ้านเกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นมิติใหม่ ทำให้ดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดโลกทัศน์เรื่องดนตรีพื้นบ้านและโลกทัศน์ของดนตรีไทย ให้กับคนที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นอาชีพและมองเห็นการอยู่รอดในอาชีพดนตรีโดยเฉพาะด้านศักยภาพความเป็นเลิศด้านดนตรี
แม้ฟ้าฝนจะไม่เป็นใจ โปรยปรายลงมาให้ชุ่มฉ่ำ แต่คณะวงดนตรีก็ไม่ท้อถอย ได้ย้ายจากเวทีกลางมาทำการแสดงในศาลาการเปรียญ สร้างความแปลกใหม่และตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก