รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ม.นเรศวร นำเสนอผลงานวิจัยที่ประชุมพืชสวนระดับนานาชาติ IHC2022 ณ ประเทศฝรั่งเศส
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยนักศึกษาปริญญาเอก เข้าร่วมงานประชุมพืชสวนระดับนานาชาติ International Horticultural Congress (IHC2022) ซึ่งจัดขึ้น
ระหว่างวันที่ 14 - 20 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมเมืองอ็องเฌ ประเทศฝรั่งเศส (Congress
Center, Angers-France) โดยร่วมนำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า (Oral presentation) 3 เรื่อง และนำเสนอแบบอิเล็กทรอนิกส์โปสเตอร์ (E-Poster presentation) 1 เรื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
Oral presentation
1) สตรอว์เบอร์รีลูกผสมใหม่ 2 สายพันธุ์: การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อเพิ่มปริมาณสาร
แอนโทไซยานินสำหรับการบริโภค
Two new hybrids strawberry cultivars: Breeding strawberry to increase fruits
phytochemical contents for health consumption
สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่รู้จักกันทั่วโลก และในผลยังอุดมไปด้วยสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารสีแดงในบริเวณผิวผล โดยสารนี้มีคุณสมบัติหลัก คือ เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยในป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง
ดังนั้นจึงทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่จะบริโภคผลสตรอว์เบอร์รีมากยิ่งขึ้น แต่ปัญหาหนึ่งพบว่า สตรอว์เบอร์รีในประเทศไทยที่ปลูกเป็นการค้ายังคงมีปริมาณสารแอนโทไซยานินที่ไม่สูงมากนัก ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นปัญหา
ดังกล่าวจึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีปริมาณสารแอนโทไซยานินที่สูงขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานตลอดโครงการทั้งสิ้น 5 ปี พบว่า สามารถคัดเลือกสตรอว์เบอร์รีลูกผสมที่มีศักยภาพดังกล่าวได้ 2 ต้น (2 สายพันธุ์) โดยสตรอว์เบอร์รีลูกผสมสายพันธุ์ที่ 1 เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์ 329 และสตรอว์เบอร์รีลูกผสมสายพันธุ์ที่ 2 เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์ Akihime จากการศึกษาวิจัยพบว่า สตรอว์เบอร์รีลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ มีลักษณะดีเด่นกว่าสายพันธุ์พ่อแม่ โดยมีปริมาณสารแอนโทไซยานินทั้งหมดเฉลี่ย 41-52 mg/100g FW ปริมาณสารไซยานิดิน-3-กลูโคไซด์ และเพลาโกนิดิน-3-ไกลโคไซด์เฉลี่ย 20-30 mg/kg FW และ 484-555 mg/kg FW
ตามลำดับ นอกจากนี้สตรอว์เบอร์รีลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ยังคงมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดและ
FRAP สูงเฉลี่ย 2131-2265 mg GAE/kg FW และ 22-24 mmol Fe2+/kg FW ตามลำดับ นอกจากนี้ลักษณะ
ทางด้านเคมีกายภาพอื่นๆ ของสตรอว์เบอร์รีลูกผสมดังกล่าวยังคงดีกว่าสายพันธุ์พ่อแม่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สตรอว์เบอร์รีลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ สามารถเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรในประเทศไทยปลูกเพื่อเชิงการค้า
ต่อไป
2) การศึกษาผลของรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
Effects of X-ray and Gamma ray Irradiation on the Physico-chemical Qualities of
Mango cv. Nam Doc Mai Si Thong (Mangifera indicaL.)
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นมะม่วงพันธุ์หลักที่ผลิตในประเทศไทย เมื่อสุกจะมีรสหวานเนื้อละเอียด
และสีผิวสีทองสวยงามเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ แต่การส่งออกมะม่วงไปจำหน่ายยังบาง
ประเทศนั้นจะต้องผ่านกรรมวิธีสุขอนามัยพืช เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชโดยเฉพาะประเทศอเมริการจะต้องมีการฉายรังสีมะม่วงก่อนนำเข้า ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ส่งออกไทยประสบปัญหาการฉายรังสีมะม่วง
แล้วผลมะม่วงสูญเสียคุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากรรมวิธีการ
จัดการหลังการเก็บเกี่ยวก่อนการฉายรังสีและผลของรังสีที่มีต่อคุณภาพผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยผลการทดลองพบว่า การคัดเลือกมะม่วงที่มีความแก่ 80% นำมาจุ่มน้ำร้อนร่วมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนการฉายรังสีตามข้อกำหนดการส่งออก สามารถควบคุมการเกิดโรคได้ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา รวมทั้งผลมะม่วงเมื่อผ่านการฉายรังสีแล้วยืดอายุการเก็บรักษาได้นาน 12 วัน โดยที่คุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
3) อิทธิพลของบรรจุภัณฑ์ดัดแปลงบรรยากาศและการฉายรังสีแกมมาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงไทยพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง
Integrated Effects of Modified Atmosphere Packaging and Gamma Irradiation on Shelflife Extension of Thai Mango cv. Nam Doc Mai Si Thong (Mangifera indicaL.)
มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีปริมาณการส่งออกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
ซึ่งส่งออกไปยังหลากหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย เป็นต้น การส่งออกมะม่วงไปยังสหรัฐอเมริกาผลมะม่วงจะต้องผ่านการฉายรังสีตามข้อกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชอย่างไรก็ตาม มะม่วงฉายรังสีนั้นมีอายุการเก็บรักษาสั้น (เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง) ประมาณ 7 วัน
ส่งผลให้มะม่วงน้ำดอกไม้ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดปลายทางเป็นระยะเวลานานได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการยืดอายุเก็บรักษาของมะม่วงฉายรังสีด้วยวิธีการดัดแปลงบรรยากาศ โดยใช้ถุง
ชนิด White Ethylene-absorbing Bag (WEB) พบว่ามะม่วงฉายรังสีบรรจุด้วยถุงชนิด WEB มีอายุการเก็บรักษาเพิ่มขึ้นเท่ากับ 24 วัน ขณะที่มะม่วงฉายรังสีไม่บรรจุถุงมีอายุต่ำกว่า 15 วัน ที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส จึงสรุปได้ว่ามะม่วงฉายรังสีบรรจุด้วยถุงชนิด WEB ชะลอกระบวนการสุกของผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองฉายรังสีได้เป็นอย่างดีและยังเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปประยุกต์ใช้ในการส่งออกทางเรือเชิงพาณิชย์
E-Poster presentation
4) การตรวจสอบคุณภาพแบบไม่ทำลายผลผลิตและการศึกษาผลของการใช้กระบวนการแปรรูปด้วย
ความดันสูงต่อคุณภาพทางจุลชีววิทยา คุณสมบัติทางเคมี กายภาพของน้ำมะพร้าวน้ำหอม
Non-destructive quality determination and effect of high-pressure processing on the
microbial and physicochemical quality of young aromatic coconut (Cocos nuciferaL.)
water.
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจสอบคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมโดยไม่ทำลายผลผลิต
และพัฒนากระบวนการแปรรูปน้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่มด้วยกระบวนการความดันสูง (High Pressure
Processing; HPP) ที่สามารถยับยั้งเชื้อก่อโรค และศึกษาอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษา ผลการศึกษา
พบว่า เทคนิคอินฟราเรดสเปกโตรสโคปี (NIRs) สามารถนำมาใช้ในคัดแยกคุณภาพชั้นเนื้อและความหวาน
(ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้) ของมะพร้าวน้ำหอมได้โดยไม่ต้องทำลายผลผลิต มีความแม่นยำมากถึง 88%
ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการใช้ NIR ในการเลือกวัตถุดิบตั้งต้นที่ดีในการผลิตน้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่ม
สำหรับการแปรรูปน้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่มด้วย HPP นั้นพบว่า การแปรรูปที่สภาวะความดัน 600 MPa
เป็นเวลา 3 นาที ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส มีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคได้ โดยไม่ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพของน้ำมะพร้าว สามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส นานมากกว่า 10 สัปดาห์