ททท. “เที่ยวไปด้วยกัน สุขใจไปกับปันสุข” นำปักหมุดเช็คอิน 5 แลนด์มาร์คสตรีทอาร์ทสุดชิค งานศิลป์วิถีชีวิตชุมชน รับนักท่องเที่ยวทั้งไทย เทศ
ททท. เปิดตัวโครงการ “เที่ยวไปด้วยกัน สุขใจไปกับปันสุข” ชวนปักหมุดเช็คอิน 5 แลนด์มาร์คใหม่ โชว์สตรีทอาร์ทสุดชิค ผ่านงานศิลป์ที่ผสมผสานวิถีชีวิตชุมชน พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) |
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับพันธมิตร เปิดโครงการ “เที่ยวไปด้วยกัน สุขใจไปกับปันสุข” เพื่อปลุกกระแสการท่องเที่ยว ผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยววิถีใหม่ มอบประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านสตรีทอาร์ตกับ 5 สถานที่สุดชิค ได้แก่ ตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร, ตลาดศาลเจ้าโรงทอง จังหวัดอ่างทอง, เกาะญวน จังหวัดนครสวรรค์, หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี และหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2565
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า โครงการ “เที่ยวไปด้วยกัน สุขใจไปกับปันสุข” เป็นการจำลองบรรยากาศการท่องเที่ยวผ่าน “น้องสุขใจ” Mascot ของ ททท. ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศน์ตัวน้อยที่จะพา “น้องปันสุข” ตัวแทนนักท่องเที่ยว ออกเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆของประเทศไทย ผ่านนิทรรศการศิลปะ เพื่อเปิดโอกาสให้คนหยิบเอาความคิดสร้างสรรค์มาช่วยพัฒนามิติต่างๆ ของเมือง กิจกรรมทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยฝีมือของกลุ่มภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และส่งเสริมการรวมกลุ่มของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่สืบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยความร่วมมือร่วมใจของศิลปิน และหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน อาทิ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ผู้ผลิตนมดัชมิลล์ ซีเล็คเต็ด และผลิตภัณฑ์นมดีมอลต์, บริษัท เยเนอรัลแคนดี้ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ ฮาร์ทบีท และบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด มหาชน ผู้ผลิตเครื่องดื่มเย็นเย็น น้ำจับเลี้ยง ตลอดจนผู้ประกอบการ และเจ้าของธุรกิจท้องถิ่นต่างๆ เพื่อยกระดับศักยภาพของพื้นชุมชนย่านเมืองเก่า ไปสู่การขับเคลื่อนความเป็นชุมชนเมืองครีเอทีฟ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับโครงการ “เที่ยวไปด้วยกัน สุขใจไปกับปันสุข” ประกอบด้วย 5 สตรีทอาร์ตสุดชิค ดังนี้
1. ตลาดน้อย เป็นย่านเก่าแก่ในเขตกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นตลาดที่ชาวจีนเรียกกันว่า “ตะลัคเกียะ” หรือ “ตลาดน้อย” ซึ่งบรรยากาศของสตรีทอาร์ทในตลาดน้อย ประกอบด้วยภาพน้องสุขใจและน้องปันสุขที่แวะเที่ยวถ่ายรูปกับรถสีส้มสุดเก๋า เจ้าถิ่นที่จอดประจำอยู่ริมกำแพงอิฐ แวะสักการะศาลเจ้าโรงเกือก สัมผัสกลิ่นอายของเทศกาลกินเจ ชิมขนมเต่าที่แสนอร่อย นอกเหนือจากสตรีทอาร์ตแล้ว พื้นที่ตลาดน้อยยังได้รับความร่วมมือจาก 7 โรงเรียน
ได้แก่ 1.โรงเรียนกุหลาบวิทยา 2.โรงเรียนราชวินิตมัธยม 3.โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ 4.โรงเรียนเทพศิรินทร์ 5.โรงเรียนบางมดวิทยา 6.โรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ 7. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) ส่งตัวแทนเด็กนักเรียนมาสร้างสรรค์สตรีทอาร์ตในหัวข้อ “คิดถึงตลาดน้อย คิดถึงอะไร” อีกด้วย
2. ตลาดศาลเจ้าโรงทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นตลาดที่มีอายุมากว่า 100 ปี มีสถาปัตยกรรมแบบจีนที่เป็นเอกลักษณ์ สตรีทอาร์ทจุดนี้ แสดงให้เห็นถึงน้องสุขใจและน้องปันสุขที่กำลัง เพลิดเพลินกับขนมไทยหลากหลายชนิด อาทิ ขนมเกสรขนมลำเจียก ขนมสัมปันนี ขนมลูกเต๋า ขนมขี้ควาย ขนมไข่ปลา ข้าวต้มมัด และกล้วยปิ้ง พลาดไม่ได้คือการแวะสักการะ ศาลเจ้ากวนอูที่ตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้าโรงทองและ “หลวงพ่อใหญ่” องค์พระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในโลก ณ วัดม่วง ก่อนจบทริปน้องสุขใจและน้องปันสุข ยังได้แวะหมู่บ้านทำกลองเอกราช ที่มีชื่อเสียงและดีที่สุดในประเทศไทย
3. หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดเป็นเมืองที่มีเสน่ห์และสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติสวยงามของทะเล องค์ประกอบของสตรีทอาร์ทแห่งนี้ จะสื่อถึงภาพน้องสุขใจและน้องปันสุข ที่กำลังเพลิดเพลินกับอาหารที่อร่อยมากมายหลากหลายเมนู เช่น เมนูขึ้นชื่ออย่าง ไก่ทอดหาดใหญ่ ติ่มซำ ซาลาเปาทอด และขนมดอกกระโดน นอกจากนี้ยังได้นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ อาคารชิโนโปรตุกีส เจดีย์สแตนเลส วัดฉื่อฉาง อีกหนึ่งไฮไลท์ของหาดสมิหลาคือ รูปปั้นนางเงือก และหอนาฬิกา ซึ่งในบริเวณจุดนี้จะมีภาพวาดขนาดใหญ่กว่า 200 ตารางเมตร
4. หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในจังหวัด ไฮไลท์ที่ใครเห็นสะดุดตาคือเจ้าตุ๊กตาเป็ดสีเหลืองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมหนองน้ำ จุดเด่นของสตรีทอาร์ทแห่งนี้ ประกอบด้วยภาพน้องสุขใจและน้องปันสุขที่ได้ล่องเรือชมทะเลบัวแดงของหนองหานกุมภวาปี เพื่อถ่ายรูปสวยๆ คู่กับ “คุณทองโบราณ” มาสคอตประจำจังหวัดอุดรธานี โดยมีประวัติที่น่าสนใจ คือเป็นการค้นพบโครงกระดูกสุนัขโบราณ อายุกว่า 3,000 ปี จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อด้วยการเดินทางไปยังพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนีที่เป็นจุดเด่นของวัดป่าภูก้อน ต่อด้วยเที่ยวชมมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่าที่เหมือนราวกับยกเมืองจีนมาไว้ใจกลางอุดร แบบเนียนกริ๊บเลยก็ว่าได้ ปิดท้ายด้วยการแวะช้อปปิ้งของฝากอย่างไหบ้านเชียงที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ต้นตำรับบ้านเชียง ที่มีอายุกว่า 5,600 ปี
5. เกาะญวน จังหวัดนครสวรรค์ จัดว่าเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ คลองญวนชวนรักษ์นำเสนอภาพสตรีทอาร์ท โดยองค์ประกอบของสตรีทอาร์ทแห่งนี้คือน้องสุขใจและน้องปันสุขที่โลดแล่นบนหลังมังกร ณ เกาะญวน เพื่อที่เตรียมจะไปเยี่ยมชมสถานที่สุดพิเศษ อย่างอุทยานนครสวรรค์เพื่อทักทายมังกรสวรรค์ที่ตั้งตระหง่าน และเข้าสักการะวัดศรีอุทุมพร และวัดคีรีวงศ์ ซึ่งเป็นวัดที่ชาวนครสวรรค์ให้ความเคารพศรัทธา ต่อด้วยการไปเที่ยวชมพาสาน สถาปัตยกรรมสุดล้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะจบทริปด้วยการไปหอชมเมืองนครสวรรค์ที่สูงถึง 10 ชั้น ซึ่งจะมองเห็นทิวทัศน์บึงบอระเพ็ด พร้อมเก็บประสบการณ์ ความประทับใจจากการท่องเที่ยวในครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับนักท่องเที่ยว อาทิ กิจกรรม “ตามหาสุขใจกับปันสุข” โดยให้นักท่องเที่ยวแสกน QR CODE ที่บริเวณสตรีทอาร์ตแต่ละพื้นที่ พร้อมลงทะเบียนกับโครงการ 100 ท่านแรก จะได้สิทธิรับรางวัล NFT รุ่น Limited edition ของโครงการ อีกหนึ่งกิจกรรมคือ “ถ่ายรูปกับสุขใจและปันสุข” เพียงคุณถ่ายรูปอย่างสร้างสรรค์กับภาพสตรีทอาร์ท พร้อมติดแฮชแท็ก #amazingthailand #สุขใจไปกับปันสุข #สุขใจปันสุข พร้อมตั้งโพสต์เป็นสาธารณะ 5 โพสที่สร้างสรรค์ลุ้นรับรางวัล NFT รุ่น Limited edition เช่นกัน โดยสามารถร่วมกิจกรรมได้ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2565 ข้อกำหนดและเงื่อนไขการรับรางวัล สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.golocalwithsukjaipunsuk.com
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชื่อมั่นว่าการจัดทำโครงการครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ชุบชีวิตย่านเก่าให้เต็มไปด้วยสีสัน ตอบรับกระแสการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาถ่ายภาพคู่กับงานศิลปะบนผนัง นอกจากจะชมภาพวาดแล้ว ภาพสตรีทอาร์ตยังให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องราว เกี่ยวกับชุมชนให้แก่นักท่องเที่ยวไปพร้อมกัน นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย