ADS


Breaking News

วช. หนุน ม.นเรศวร เผยผลวิจัยเศษซากเชื้อ SARS-CoV-2 กลายพันธุ์ ในน้ำเสียนครยะลา เตือนภัยระบาดล่วงหน้าได้ดี ต่อเนื่อง

     วันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมาวารสารวิชาการนานาชาติอย่าง Nature ตีพิมพ์บทความวิจัยว่าการตรวจเศษซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชนสามารถตรวจพบการระบาดของโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่ๆ ในชุมชนได้ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการตรวจพบการระบาดด้วยการตรวจรายบุคคล (เช่น ATK หรือ PCR) ทำให้ชุมชนและหน่วยงานที่ต้องตอบโต้สถานการณ์รู้ล่วงหน้าได้ และ ปรับแผนรับมือได้ก่อนจะเกิดการระบาดใหญ่ได้ถึง 2 สัปดาห์
     งานวิจัยดังกล่าวทำที่รัฐ California ของประเทศสหรัฐอเมริกา และ ตรวจพบเศษซากเชื้อสายพันธ์ุแอลฟ่า และ เดลต้า ในน้ำเสียชุมชนก่อนการตรวจพบรายบุคคลถึง 2 สัปดาห์ ในขณะที่ตรวจพบเศษซากของสายพันธุ์โอมิครอนในน้ำเสียก่อนการตรวจพบรายบุคคลประมาณ 10 วัน
     คณะวิจัยของเราก็ใช้เทคนิคการตรวจการกลายพันธุ์กับเศษซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชนที่เทศบาลนครยะลา และตรวจพบเศษซากเชื้อของ SARS-CoV-2 ที่มีการกลายพันธุ์ของโอมิครอนในน้ำเสียถึงประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนคนแรกในเทศบาลนครยะลา
     จากรูปด้านบน ตัวอย่างน้ำเสีย ณ วันที่ 25 พ.ย. 64 หรือคือ 1 วันก่อน WHO แจ้งเตือนเกี่ยวกับโอมิครอน ตัวอย่างน้ำเสียชุมชนจากเทศบาลนครยะลาทุกตัวอย่างที่คณะวิจัยทำการวิเคราะห์การกลายพันธุ์ตรวจพบเศษซากเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ ณ ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นการกลายพันธ์ของเดลต้า สอดคล้องกับการเป็นช่วงเดลต้าครองเมือง ในช่วงดังกล่าว
     อย่างไรก็ดี ตัวอย่างน้ำเสีย ณ วันที่ 9 ธ.ค. 64 และ 7 ม.ค. 65 มีการตรวจพบ เศษซากเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ ณ ตำแหน่ง N501Y เพิ่มด้วย ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ของโอมิครอน BA1.1 การตรวจพบเศษซากเชื้อกลายพันธุ์ในตัวอย่างน้ำเสียนี้ พบก่อนการพบสายพันธุโอมิครอนจากการตรวจ PCR รายบุคคลถึงเกือบ 3 สัปดาห์ ตัวอย่างน้ำเสีย ณ วันที่ 17 ก.พ. 65 เป็นต้นมา ยืนยันการระบาดของโอมิครอนในชุมชนโดยตรวจพบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง K417N เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ของโอมิครอนอย่างชัดเจน
     จนถึงตัวอย่างน้ำเสีย ณ วันที่ 15 มิ.ย. 65 ซึ่งแสดงว่าการระบาดในชุมชนเปลี่ยนจากสายพันธุ์เดลต้าไปเป็นโอมิครอนอย่างสมบูรณ์ด้วยพบเพียงเศษซากเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง K417N ของโอมิครอน แต่ไม่พบเศษซากเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ ณ ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นการกลายพันธ์ของเดลต้าแล้ว
     เรายังคงเฝ้าระวังการระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในเทศบาลนครยะลาต่อไป แต่ตอนนี้เทศบาลนครยะลาควบคุมการระบาดได้ดีมากๆ ด้วยการเตือนภัยการระบาดล่วงหน้าด้วยการตรวจเศษซากเชื้อในน้ำเสีย และ การดำเนินมาตรการเชิงรุกของเทศบาล ทำให้มีผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบจริงน้อยมาก และ แทบไม่พบเศษซากเชื้อในน้ำเสียชุมชนเลย สวนทางกับทิศทางการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก
     งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ผ่าน PMU คือ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

อ้างอิง