ADS


Breaking News

วช.ปลื้ม! หน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศแห่ร่วมงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” ล้น! โชว์ผลงานกว่า 700 ชิ้น พร้อมเปิดประชุม-ระดมสมองแก้โจทย์ประเทศ 1-5 ส.ค. นี้ ต้องห้ามพลาด!

วช.จับมือหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” โชว์ผลงานฝืมือนักวิจัยไทยกว่า 700 ผลงาน พร้อมเปิดภาคการประชุม-ระดมสมองแก้โจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศ 1-5 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร รางวัล Platinum Award ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564
รศ.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รางวัล Platinum Award ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564
     วันนี้ (20 กรกฎาคม 2565) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ( Thailand Research Expo 2022 )”  ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ภายใต้แนวคิด“วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยการจัดงานในปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน ฯ ในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 14.30 น.  
     ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า  วช. ร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)”  ขึ้นเป็นปีที่ 17  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย   งานดังกล่าวถือเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์  และเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้  รวมถึงเชื่อมโยงการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำงานวิจัยไปใช้พัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ทั้งเชิงวิชาการ นโยบาย  สังคม ชุมชน พาณิชย์และอุตสาหกรรม
     “งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  จัดขึ้นเป็นปีที่ 17  โดยความมุ่งมั่นตั้งใจของเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ทางวช.ภายใต้กระทรวงอว.มีความตั้งใจในการทำให้เวทีนี้เป็นเวทีที่ทำให้เกิดการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยมาทำให้เห็นภาพว่าทุกเม็ดเงินการลงทุนจากการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ใช้จ่ายหรือลงทุนในแต่ละปี สามารถเกิดผลงานที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการพัฒนาประเทศในหลากหลายรูปแบบ สามารถแก้ไขปัญหาและสามารถช่วยให้คุณภาพชีวิต สภาพเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น อยากให้ทุกคนให้กำลังใจนักวิจัยและมาชอปผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นรวมถึงการประชุมในประเด็นท้าทายใหม่ๆที่อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม "
​     สำหรับการจัดงานในปีนี้ จะมีการนำเสนอผลงานวิจัยจากเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศกว่า 700 ผลงาน ใน 5 ประเด็นหลักคือ 1.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์   เช่น การพัฒนาระบบเศรษฐกิจบีซีจี (BCG)  การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  เอไอ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์  ระบบราง  ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ 2.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  เช่น  การพัฒนาสังคมสูงวัย  การพัฒนาเมืองน่าอยู่  สังคมไทยไร้ความรุนแรง  และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ  3.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  เช่น นวัตกรรมการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั้งการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรค  การสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข  และการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตด้านสาธารณสุขในอนาคต    4. งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-curve) และอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve)  และ 5.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงการพัฒนาพื้นที่  ครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงชุมชนสังคม ผ่านกลไกการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์    
​ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าว ฯ  ยังเปิดเวที “Thailand Research Expo Talk : เวทีรวมพลังวิจัย ขับเคลื่อนประเทศไทย” โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ศ.นพ.วชิร  คชการ ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN)   รศ.ดร.สมหมาย  ผิวสอาด    ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา   ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ​ และนพ.นพพร  ชื่นกลิ่น  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) 
และช่วง “Platinum Award Talk : เสริมพลังประชาคมวิจัย ด้วยรางวัลแห่งเกียรติยศ”  โดย ผศ.ดร.วันชัย  สุทธะนันท์   รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร  และ รศ.ชยาพร วัฒนศิริ   อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง   ในฐานะได้รับรางวัล Platinum Award ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564  
นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดตัว  “ เดี่ยว” สุริยนต์  อรุณวัฒนกูล  เป็นทูตวิจัยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565    พร้อมนำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยที่น่าสนใจ  เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มบัวฉลองขวัญด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย   จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาการเพาะเลี้ยง สกัดสเต็มเชลล์จากบัวฉลองขวัญ และใช้เทคโนโลยีในการกักเก็บสารสำคัญ เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมเครื่องสำอางสเต็มเซลล์จากบัวฉลองขวัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพรไทย การพัฒนาฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก (AI) จากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่นำเทคโนโลยีเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการบ่งชี้แหล่งที่มาของอัญมณีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ และยกระดับความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศไทย โครงการศึกษาพัฒนารูปแบบยาเตรียมตำรับยาแผนไทย จำนวน 16 ตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม  จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ต่อยอดภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยโดยใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเภสัชกรรม  นอกจากนี้ยังมีระบบการดูแลผู้ป่วย Home Isolation และ Community Isolation ด้วย Platform “ WeSAFE@Home by BUU” จากมหาวิทยาลัยบูรพา  ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  และการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง  จากมหาวิทยาลัยทักษิณ    
     อย่างไรก็ดี ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 นอกจากจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยในภาคนิทรรศการแล้ว ยังมีภาคการประชุม-สัมมนามากกว่า 150 กว่า หัวข้อ  ทั้งหัวข้อสำคัญสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยและปัญหาสำคัญของประเทศ   หัวข้อที่อยู่ในความสนใจของสังคม  การประชุมกลุ่มนำเสนอบทความผลงานวิจัย  และการประชุมถ่ายทอดความรู้  การให้คำปรึกษาด้านการทำวิจัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษากว่า 100 ผลงาน และการมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565
     สำหรับงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1- 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานภาคการประชุมและภาคนิทรรศการได้ที่ https://researchexporegis.com  โดยลงทะเบียนเข้าชมแบบ Onsite ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565  และแบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565