ADS


Breaking News

วช. เผยกรอบการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ปี 66 พร้อมประกาศผลสำเร็จ ในงาน NRCT Open House 2022

วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จ ในงาน NRCT Open House 2022
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว.

     วันที่ 16 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม วันนี้จัดขึ้นเป็นวันที่ห้าแล้ว เป็นการประชุม ในสถานการณ์ปัจจุบัน เทรนด์เทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมตามกระแสโลก แบ่งได้เป็น อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมเฉพาะ เมื่อนำมาเชื่อมเข้ากับแผนงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ ววน. ในการส้รางโอกาสเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการใช้ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนา SME และวิสาหกิจเพื่อสังคม 
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวต่ออีกว่า ในกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 วช. ได้มีการวางแผนงานเพื่อยกระดับคุณภาพสังคมด้วยเทคโนโลยีและการวิจัย แบ่งเป็น 1. การพัฒนาวัสดุขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรม 2. การยกระดับการตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้า Innovative House 3. การพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 4. การพัฒนาด้านดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป 
     ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้” โดย ศ.(กิตติคุณ) นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า จากงานวิจัยที่พัฒนาไปถึงระดับ 4 และระดับ 5 ทำอย่างไรจึงจะผลิตได้ ซึ่งในการผลิตจะต้องมีองค์ความรู้ในกระบวนการทางวิศวกรรม มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลงทุนไปแล้วจะไม่สูญเปล่า รวมถึงการอ้างอิงงานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยนั้น ต้องได้รับการรับรองมาแล้ว มีความน่าเชื่อถือ และมีเงื่อนไขกำหนดเวลาที่ชัดเจน เมื่อผลิตสินค้าออกมาได้แล้ว การจะขายสินค้าได้หรือไม่นั้น คือ สินค้าต้องมีมาตรฐาน มีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจของลูกค้า สินค้าต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญคือ ต้องมีกลยุทธ์วางแผนการตลาดที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้งานวิจัยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ได้ 
     “สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม คือ ไทยทำ ไทยใช้ และไทยต้องซื้อของไทย เพื่อช่วยเหลือนักวิจัยไทยของเรา” ศ.(กิตติคุณ) นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวทิ้งท้าย
     นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา เรื่อง “ทำความเข้าใจให้ตรงกัน... แนวทางวิจัยและนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมของ วช.” โดย รศ.ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม, ผศ.ดร.ภานี น้อยยิ่ง, ดร.ถาวร รัตติทิวาพาณิชย์ และนายกิตติศักดิ์ พรหมเปี่ยม ร่วมเสวนา และมีนางสาวพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา การซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ และนางสาวดารินพร เจียมประดิษฐ์กุล รวมถึงการนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS โดย นายเอนก บำรุงกิจ และปิดท้ายด้วยการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และการผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน โดย ศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์, นายชณา วสุวัต, ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร และนางสาวพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยกิจกรรม NRCT Open House2022 : ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม การออกแบบความรู้ที่เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ เพื่อนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ในกระบวนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ เสริมศักยภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม
     สำหรับการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนในปี 2566 จะจัดขึ้นอีก 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom รวมทั้งการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
     โดยการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th