ADS


Breaking News

อว.ชื่นชมยินดีนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ที่ วช. หนุนคว้ารางวัล 11 เวทีนานาชาติ

อว. ปลื้มนักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย กวาดรางวัล 11 เวทีนานาชาติ
อว. มอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีให้กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ วช. ให้การสนับสนุนจนคว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ 11 เวที
ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
     วันที่ 15 มิถุนายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย โดยมี ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีและมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ พร้อมทั้ง ปาฐกถาพิเศษ “นโยบายและทิศทางในการผลักดันสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมสู่เวทีนานาชาติ” พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานฯ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี
     ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า สังคมที่มั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งทางนวัตกรรมระดับแนวหน้าในสากล นำประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วนอกเหนือจากเรื่องกำลังคนแล้วยังมีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือผลงานที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการสนับสนุนทางตรง ได้แก่ การให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนาโครงการและผลงานสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงฯ ส่วนการสนับสนุนทางอ้อม การสร้างแรงจูงใจ และการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ ยกย่องบุคคล หน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งในส่วนนี้เป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการให้ทุนสนับสนุนและดำเนินการโครงการการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม สู่เวทีระดับนานาชาติ มาอย่างต่อเนื่องโดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจเสนอชื่อของประเทศไทยในการนำผลงานของนักประดิษฐ์ไทยเข้าสู่เวทีการประกวดแข่งขัน และจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ การสร้างสรรค์ผลงาน สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้เสนอชื่อและประสานงานหลักของประเทศไทย ในการนำส่งผลงานของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยไทย เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ กว่า 11 เวที โดยเล็งเห็นประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้เผยแพร่ผลงาน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย การประดิษฐ์คิดค้นที่ไม่แพ้ชาติใดนับเป็นจุดเริ่มต้น ของการยกระดับให้ผลผลิตจากงานวิจัย และผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและร่วมกันพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าว วช. ขอแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ทุกท่านที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ รวมทั้งผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น ในการส่งเสริมและสนับสนุน จนเกิดผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติในฐานะหน่วยงานเสนอชื่อและนำส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติของประเทศไทยกว่า 300 ผลงาน ทั้งในเวทีหลัก และเวทีประสานกว่า 10 เวที โดย วช. เป็นผู้ประสานหลักเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์ไทย ได้รับองค์ความรู้ใหม่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านการวิจัยและการประดิษฐ์กับนักวิจัยชาวต่างประเทศในการพัฒนาผลงานให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางผลงานได้รับการรับรอง โดยมาตรฐานสากลซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลงานทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมตลอดจนเกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและนักวิจัยนานาชาติในการสร้างสรรค์ ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ในมิติต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมในระดับสากล ดังนั้น วช. จึงมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและผลักดันให้ ผลงานวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้ก้าวสู่เวทีระดับโลกผ่านการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศ ได้แก่ IFIA  และ WIIPA ซึ่งเป็นองค์กรกลางของหน่วยงานด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ จากการจัดงานในวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดนับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 164 ผลงาน จาก 11 เวที ระดับนานาชาติ ประกอบด้วย 
     1) เวที “The 6th Korea International Youth Olympiad 4i 2021” (KIYO 4i 2021) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัล เหรียญทองจำนวน 4 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 1 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 3 รางวัล
     2) เวที “The 45th International Invention Show” (INOVA 2021) ณ เมืองซาเกร็บ สาธารณรัฐโครเอเชีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 6 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 8 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 4 รางวัล
     3) เวที “The XV International Warsaw Invention Show 2021” (IWIS 2021) ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 8 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 13 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 10 รางวัล
     4) เวที “Seoul International Invention Fair 2021” (SIIF 2021) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดย นักประดิษฐ์นักวิจัยไทยได้รับรางวัล Grand Prize 1 รางวัล เหรียญทองจำนวน 6 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 8 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 12 รางวัล
     5) เวที “2021 Kaohsiung International Invention & Design Expo” (KIDE 2021) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 7 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 10 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 6 รางวัล
     6) เวที “The 32nd International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2021) 
ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 18 รางวัล เหรียญเงิน จำนวน 5 รางวัล และเหรียญทองแดง จำนวน 4 รางวัล
     7) เวที “The 9th Macao International Innovation and Invention Expo” (MiiEX 2021) ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 6 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 10 รางวัล 
     8) เวที “SPECIAL EDITION 2022 INVENTIONS GENEVA EVALUTATION DAYS” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold with Congratulations of the Jury) จำนวน 1 รางวัล เหรียญทองจำนวน 11 รางวัลเหรียญเงินจำนวน 18 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 5 รางวัล
     9) เวที “Malaysia Technology Expo 2022” (MTE 2022) ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 6 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 2 รางวัล 
     10) เวที “2022 Shanghai International Invention and Innovation Exhibition” ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย เหรียญทองจำนวน 9 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 9 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 8 รางวัล
     11) เวที “The 33rd International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2022) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 3 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 1 รางวัล
     นับเป็นความภาคภูมิใจที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ สะท้อนผลสำเร็จจากการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศในวงกว้างนำไปสู่การผลักดันนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยนำผลงานสู่มาตรฐานในระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน
     ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดนิทรรศการผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากเวทีนานาชาติ ความสำเร็จที่ วช. ผลักดันและส่งเสริมในการสนับสนุนทุนให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลงานในระดับสากลถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ ผลักดันให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ได้รับการยอมรับทั้งด้านนวัตกรรม วิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศ วช. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศให้ดียิ่งขึ้น