ADS


Breaking News

นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาครัฐ พรรคการเมือง ดันเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ยกระดับเศรษฐกิจ มุ่งครัวไทยสู่ครัวโลก

นักวิชาการ - ภาคเอกชน -  ภาครัฐ - พรรคการเมือง หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดันครัวไทยสู่ครัวโลก

     กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP พร้อมด้วย 4 พรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล ชี้ทางรอดภาคเกษตรกรรมไทย ต้องบริหารจัดการเพาะปลูกให้ได้มาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัย ควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจด้านสินค้าเกษตรไทย ย้ำจุดยืน ครัวไทยสู่ครัวโลก

     วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ “อินทรีย์ - เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” ร่วมกับ นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท่ามกลางนักวิชาการ ภาคเอกชน ภาครัฐ ผู้แทนพรรคการเมือง และเกษตรกรเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

     นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า โลกของเราจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ปัจจุบัน เริ่มเห็นข่าวว่ามีกว่า 30 ประเทศที่งดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก มีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการผลิตวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร

     สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ขับเคลื่อน One FTI โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย”

     นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรแบบ GAP เพราะ ทุกวันนี้ราคาอาหารแพงขึ้น ต้นเหตุเกิดจาก ปัจจัยเริ่มต้นคือ ผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วน จะต้องกลับมาดูความพร้อม และดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรของเรา ให้สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความจริงที่ว่า ไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต”
     โดยในงานเสวนาดังกล่าว มีประเด็นร้อน เรื่องปุ๋ยแพง นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ได้เสนอแนวทางออกให้แก่เกษตรกรถึงการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ให้เหมาะสม ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา ประเทศศรีลังกา ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตร ส่วน นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักมาตรฐาน GAP ได้แบ่งปันประสบการณ์ตรงในการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีมาตรฐาน GAP ขณะเดียวกัน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดผลวิจัยล่าสุดและแนวโน้มของการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ของไทย

     นอกจากนี้ ผู้แทนจากพรรคการเมือง ได้แก่ นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย และ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและมุมมองในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และสารเคมีเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาภาคการเกษตรไทยไปสู่ครัวโลกได้อย่างยั่งยืน

     “ท้ายที่สุด การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนับสนุนการผลิตแบบ GAP อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฎิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบ GAP อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้อาหารปลอดภัยได้เช่นเดียวกับ การเกษตรแบบอินทรีย์ นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะเราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ” นายชัยวัฒน์ นิยมการ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุป