ADS


Breaking News

ดีพร้อม เผยสิ่งทอส่งออกไตรมาสแรกมูลค่าพุ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

ดีพร้อม ปลื้มสิ่งทอไตรมาสแรกมูลค่าส่งออกพุ่ง กระตุ้นมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่ม
     เปิดงาน…ภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานพิธีเปิด  กิจกรรม “ดีพร้อมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม” ปีงบประมาณ 2565 ร่วมด้วย ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ “น้ำตาล” ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวอร์ส ไทยแลนด์ 2016 ที่ ควอเทียร์ อเวนิว ชั้น จี ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์
      กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดสถานการณ์ การส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2565 จากปัจจัยการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลักของไทย เตรียมร่งพิจารณารับรองมาตรฐานด้วยฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tag ปี 65 ซึ่งมีผู้ผ่านการรับรอง 26 กิจการ 43 ผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้ากระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจการค้า ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
     นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานพิธีเปิด  กิจกรรม “ดีพร้อมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม” ปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน  2565 ที่ Quartier Avenue (ควอเทียร์ อเวนิว) ชั้น จี ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ และมี ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กล่าวรายงาน
     ทาง ดีพร้อม “DIProm” ได้ยกทัพผู้ประกอบการ “ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย” จัดแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าสิ่งทอคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “Thailand Textiles Tag : The Power to Drive the Textiles industry in the Future” (ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย : พลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอในอนาคต) พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานการทดสอบ
   นอกจากนี้ยังมี การแสดงมินิแฟชั่นโชว์ รูปแบบ contemporary show ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบและการตรวจสอบสถานที่ผลิตตามหลักเกณฑ์ ภายใต้ Thailand Textiles Tag จากนายแบบนางแบบ และ “น้ำตาล” ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวอร์ส ไทยแลนด์ 2016
     นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากภาพรวมการค้าระหว่างประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ปี 2565 ไตรมาส 1  มีความคึกคักและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการส่งออกมูลค่า 1,784.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่งผลต่อปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นและทำให้ภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  
     “ในขณะที่ภาพรวมการนำเข้า ปี 2565 ไตรมาส 1 พบว่ามีมูลค่า  1,373.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมเกิดดุลการค้าเกินดุล ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 410.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยทาง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ ดร.ณัฐพล รังสิตผล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งการรับรองมาตรฐานสิ่งทอที่มีคุณภาพเพื่อกระตุ้นการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น”
     “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) จึงได้ขยายผลการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ที่สะท้อนการส่งเสริมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ (C-Customization) ผ่านการรับรองมาตรฐาน ด้วยฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tag”
    “โดยในปีนี้ มีผู้ประกอบการสนใจยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag และพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้การรับรองตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งสิ้น 26 กิจการ 43 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งยอดรวมการดำเนินงานทั้งหมด 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองทั้งสิ้น 104 กิจการ 193 ผลิตภัณฑ์ โดยภาพรวมสามารถผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจการค้าให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20”
     “สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังได้รับคำแนะนำเชิงลึกในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต ด้านการประกันคุณภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพโดยห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับปรุงเว็บไซต์ www.thailandtextilestag.com ให้สามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง รวมทั้งยื่นขอคำรับรองฉลากฯ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้นรองรับการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ” 
       “อย่างไรก็ดี ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tag มุ่งเน้นให้ความสำคัญ กับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้และพิจารณา จากแหล่งกำเนิดของสินค้า กระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยยึดตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อกระตุ้น การพัฒนาสินค้าอย่างมีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งยังลดการนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศ อีกทั้ง ยังสนับสนุนและส่งเสริมผู้ผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น สินค้าสิ่งทอไทยจึงต้องมีศักยภาพเพื่อเข้าถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”