ส.แพทย์ผิวหนังฯ ขอเชิญรับชมเพจเฟซบุ๊ก“ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง”EP.21 ตอน “โรคฝีดาษลิง”
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เชิญรับชมเพจเฟซบุ๊ก “ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง”EP.21 ตอน “โรคฝีดาษลิง”
โรคฝีดาษลิง (monkeypox) กำลังเป็นประเด็นที่น่าติดตาม เนื่องจากเริ่มมีการแพร่ระบาดอยู่ในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาและทวีปอาฟริกา และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับในประเทศไทย กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจับตามมองโรคฝีดาษลิงเป็นพิเศษ โดยโรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม pox virus เหมือนกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (small pox) แต่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ทั้งสองโรคมีการแพร่เชื้อและความรุนแรงที่ต่างกัน โรคฝีดาษลิงติดต่อผ่านผิวหนังทางการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือการโดนกัดจากสัตว์ที่ติดเชื้อจำพวกลิงหรือสัตว์ฟันแทะ เช่น หนูหรือกระรอก เป็นต้น ส่วนอาการและอาการแสดงของโรคผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 7-14 วัน โดยจะเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และปวดหลัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ ท้องเสีย ปวดท้อง หรืออาเจียน ผื่นจะเริ่มขึ้น 1-3 วันหลังมีไข้ โดยจะเป็นผื่นแดงและกลายเป็นตุ่ม มักเริ่มที่หน้า ตัวและกระจายที่มือเท้า โดยตุ่มจะมีลักษณะเหมือนกันทั้งตัว หลังจากนั้นประมาณ 14 วัน ตุ่มแดง ทั้งหมดจะกลายเป็นตุ่มน้ำตุ่มหนองพร้อมกัน และเริ่มแตกเป็นแผลมีสะเก็ดพร้อมกัน ซึ่งนอกจากอาการผื่นแล้วผู้ป่วยมักมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคาง ลำคอและขาหนีบ ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีกระจกตาอักเสบ มีปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบได้
สำหรับโรคฝีดาษลิง สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย หรือ DST ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคนี้โดยเฉพาะ และต้องการให้ความรู้กับประชาชนทั่วประเทศ จึงขอเชิญประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเข้ารับชม Facebook Live ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง” ใน EP.21 ตอน “โรคฝีดาษลิง” ในวันพฤหัสบดี ที่ 16 มิถุนายน 2565 เวลา 19.00-20.00 น. โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และรศ.นพ.จักรพงษ์ บูรมินเหนทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรและ นพ.ธีรพงษ์ รัตนนุกรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับผู้สนใจต้องการสอบถามปัญหาเกี่ยวกับ เรื่อง โรคฝีดาษลิง สามารถสอบถามปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้ โดยการฝากข้อความคำถาม ได้ที่เพจครบเครื่องเรื่องผิวหนังหรือเข้าศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย (WWW.DST.OR.TH)