วช. ยินดี! ผลสำเร็จนักประดิษฐ์ - นักวิจัยไทย คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมนานาชาติ ที่เซี่ยงไฮ้
วช. ยินดีกับนักประดิษฐ์ นักวิจัย ที่คว้ารางวัล WIIPA SPECIAL AWARD ถือเป็นรางวัลพิเศษของ การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน 2022 Shanghai International Invention and Innovation Exhibition รูปแบบออนไลน์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
วันที่ 29 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าคุณค่าอันเป็นประโยชน์กับประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดอย่างเนื่อง และในครั้งนี้ วช. ได้นำนักประดิษฐ์ นักวิจัยจากไทย จาก 13 หน่วยงานคว้ารางวัลระดับนานาชาติจากงาน "2022 Shanghai International Invention and Innovation Exhibition " ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 16 เมษายน 2565 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งเป็นการประกวดและนำเสนอผลงานในรูปแบบออนไลน์ และเป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลต่างๆ กว่า 29 รางวัล ประกอบด้วย
รางวัล WIIPA SPECIAL AWARD จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์ อนุภาคทอง ขนาดนาโนโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ จากสารสกัดเพกา เพื่อใช้ในงานสิ่งแวดล้อม” แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผลงานวิจัยเรื่อง “เคพีเอส ชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชแบบเลือกทำลายเพื่อควบคุมผักตบชวา” แห่ง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, และผลงานวิจัยเรื่อง “การเสริมฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรสาบเสือร่วมกับกะเม็งต่อกระบวนการแข็งตัวของเลือดและการสมานแผล เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ห้ามเลือดและสมานแผล” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
รางวัลเหรียญทอง จำนวน 9 รางวัล ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์ อนุภาคทอง ขนาดนาโนโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ จากสารสกัดเพกา เพื่อใช้ในงานสิ่งแวดล้อม” แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผลงานวิจัยเรื่อง “เคพีเอส ชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชแบบเลือกทำลายเพื่อควบคุมผักตบชวา” แห่ง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, ผลงานวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมอนุภาคนาโนพอลิเมอร์ฐานชีวภาพหลายหน้าที่สำหรับเป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดอนุภาคต้านเชื้อจุลชีพและลดการเกิดฟอง” แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ผลงานวิจัยเรื่อง “การผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากแป้งกล้วยดิบและขมิ้นชัน สำหรับผู้ที่มีภาวะ metabolic syndrome และเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง” แห่ง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผลงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากมะม่วงหิมพานต์ในรูปอาหารสุขภาพ” แห่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปากผสมสารสกัดฟ้าทะลายโจรป้องกันการติดเชื้อไวรัส” แห่ง สถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนายาทางชีวภาพในการรักษาภาวะเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบด้วยระบบนำส่งสารในรูปแบบนาโนเจลของ Hyaluronic acid polymers บรรจุสารสกัดจากพลูคาว (Houttuynia cordata Thunb.)” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี , ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันอย่างง่ายในการจำแนกโรคที่มีความอันตรายในมันสำปะหลังโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, และผลงานวิจัยเรื่อง “การเสริมฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรสาบเสือร่วมกับกะเม็งต่อกระบวนการแข็งตัวของเลือดและการสมานแผล เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ห้ามเลือดและสมานแผล” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 9 รางวัล ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เครื่องสูบน้ำท่อเขย่าคู่พลังงานแสงอาทิตย์” แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผลงานวิจัยเรื่อง “ไอโซออเรียนติน จากสารสกัดใบไผ่ เพื่อพัฒนาเป็นครีมบารุงและ ครีมกันแดด” แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผลงานวิจัยเรื่อง “สารยับยั้งการกินจากสารสกัดสะค้าน (Piper ribesioides) และ พลูคาว (Houttuynia cordata) ต่อหนอนกระทู้หอม” แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ผลงานวิจัยเรื่อง “ออโรร่าเยลลี่: เยลลี่สารสกัดกลีบบัวหลวงเสริมภูมิคุ้มกัน” แห่ง คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ผลงานวิจัยเรื่อง “Begining Fresh (BF)” แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, ผลงานวิจัยเรื่อง “กล่องอัจฉริยะปรับยูนิตอินซูลินและแจ้งเตือนสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น” แห่ง โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาถุงเพาะชำย่อยสลายได้สำหรับต้นมะเขือเทศพันธุ์ golden honey bunch ด้วยกากกาแฟร่วมกับเถ้าแกลบดำ โดยมีแป้งมันสำปะหลังเป็นวัสดุประสาน” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, ผลงานวิจัยเรื่อง “การผลิตแบตเตอรี่สำรองแบบย่อยสลายได้โดยใช้กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์ กัลป์วานิ กระหว่างขั้วซิลิกาและน้ำขี้เถ้าจากแกลบกับขั้วโลหะทองแดงและสารละลายคอปเปอร์(II) ซัลเฟต แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย, และผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาประสิทธิภาพของตัวเก็บประจุที่ผลิตจากเส้นใยนาโนที่ได้จากแบคทีเรีย” นางสาววิริยา ตาสี และคณะ
รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “ผลิตภัณฑ์จากรถม้า เอกลักษณ์เมืองลำปาง” แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ผลงานวิจัยเรื่อง “เครื่องดักแมลงวันทองอัจฉริยะ แบบใช้ความร้อนกระจายกลิ่นเป็นตัวล่อ (ใช้การตั้งเวลาหรือใช้ ความชื้นสัมพัทธ์ควบคุมการกระจายกลิ่น)” แห่ง โรงเรียนอินเตอร์ทอทส์ไตรลิงกวล, ผลงานวิจัยเรื่อง “บีซีซี PBR แอปพลิเคชั่นฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน” แห่ง โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ,ผลงานวิจัยเรื่อง “ฆ้องวงใหญ่ไฟฟ้า” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ,ผลงานวิจัยเรื่อง “เครื่องดูดควันประหยัดพลังงาน” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก, ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการกายภาพบำบัดเบื้องต้นด้วย Body Tracking สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, ผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาและพัฒนาการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วยวิธี Transit Photometry” แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี, และผลงานวิจัยเรื่อง “กินไรดี” แห่ง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
สำหรับงาน 2022 Shanghai International Invention and Innovation Exhibition ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 โดย World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) หน่วยงานนานาชาติด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งไต้หวัน