วช.เสริมนักวิจัย ม.บูรพา ชูโปรแกรมเสมือนจริงเพิ่มการบริหารสมองผู้สูงอายุ ชี้สมองดีขึ้นจริง พร้อมต่อยอดเป็นนวัตกรรมยั่งยืนรับสังคมผู้สูงอายุ
วช.หนุนนักวิจัย ม.บูรพา พัฒนาโปรแกรมความเป็นเสมือนจริงสำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองผู้สูงอายุ ชี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาสมองได้จริง เตรียมต่อยอดเป็นนวัตกรรมแบบยั่งยืนรองรับสังคมผู้สูงอายุ
รองศาสตราจารย์ ดร. ภัทราวดี มากมี คณบดีวิทยาลัยวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา มหาวิทยาลัยบูรพา หัวหน้าโครงการ “การพัฒนาโปรแกรมความเป็นเสมือนจริงสำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองผู้สูงอายุ” เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ได้มีการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2563 พบว่า มีประชากรรวม 66.5 ล้านคน ผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน หรือ 18 % ของประชากรทั้งหมด การที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นไปได้ที่อัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมีการประมาณการจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีภาวะสมองเสื่อม จะเท่ากับ 900,000 คนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันแม้ยังไม่มีแนวทางการรักษาภาวะสมองเสื่อมที่มีประสิทธิภาพ แต่งานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดถึงความเป็นไปได้ในพัฒนาสมองของผู้สูงอายุเพื่อชะลอหรือป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งการฝึกสมอง โดยเฉพาะการพัฒนาหน้าที่การบริหารจัดการสมอง ที่เป็นกระบวนการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการวางแผน การคิดยืดหยุ่น การมุ่งเน้นความสนใจ การยับยั้งพฤติกรรม การควบคุมความสนใจ ภาษาและความจำขณะคิด ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการป้องกัน ชะลอ และส่งเสริมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุมากกว่าการพัฒนาสมองในด้านอื่น ๆ
รองศาสตราจารย์ ดร. ภัทราวดี กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏการนำเอาเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนมาส่งเสริมและพัฒนาหน้าที่การบริหารจัดการสมองในผู้สูงอายุ ตนเองและผู้ร่วมวิจัย อาจารย์ ดร. พีร วงศ์อุปราช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์จากวิทยาลัยวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา มหาวิทยาลัยบูรพา จึงพัฒนาโครงการ “การพัฒนาโปรแกรมความเป็นเสมือนจริงสำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองผู้สูงอายุ” ขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นที่สำคัญของประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว)
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาโปรแกรมความเป็นจริงเสมือน โดยบูรณาการทฤษฎีความจำขณะคิดเกี่ยวกับภาพและมิติสัมพันธ์ (โปรแกรม Spatial Working Memory) ร่วมกับทฤษฎีการปรับตัวด้านการเคลื่อนไหวและจำภาพ (โปรแกรม Motor Adaptation) สำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองในผู้สูงอายุ
การทำงานของโปรแกรมฯ เริ่มตั้งแต่ 1. การรับรู้รับสัมผัสการมองเห็นภาพและได้ยินเสียง โดยผู้สูงอายุรับรู้และสัมผัสสภาพแวดล้อมเสมือนจริงจากการจำลองผ่านระบบความเป็นจริงเสมือน 2. การประมวลผลการรับรู้ 3. เริ่มต้นวางแผนทำกิจกรรม 4. การเคลื่อนไหวร่างกายตามที่กำหนด 5.ลงมือทำกิจกรรม และ 6. การเรียนรู้ซ้ำ ปรับปรุงและย้อนกลับ
ทั้งนี้มีการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยใช้ Unity 3D ร่วมกับ Google Cardboard และโปรแกรม MAYA จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกเสมือนจริงของการเข้าร่วมอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มีอยู่จริง ที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ยังใช้อุปกรณ์ในการทำงานเสมือนจริงเข้ามาช่วยคือ จอภาพสวมศีรษะ ซึ่งจะทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และจอยสติกส์ โดยจะมี 3 ห้องกิจกรรม คือ ห้องครัวเสมือนจริง (Virtual Reality Kitchen: VRK) ห้องนอนเสมือนจริง (Virtual Reality Bedroom: VRB) และสวนหย่อมเสมือนจริง (Virtual Reality Garden: VRG)
จากการนำโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองใช้งานจริงกับผู้สูงอายุ พบว่า ความสามารถทั้งสามด้านของหน้าที่การบริหารจัดการสมองเพิ่มขึ้นทุกด้านในกลุ่มทดลองหลังฝึก ทั้งความยับยั้งชั่งใจ การปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม
สำหรับจุดเด่นของงานวิจัย หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า เป็นการผสานจุดเด่นของความเป็นจริงเสมือนในเรื่องการพัฒนาการบริหารจัดการสมองผ่านกิจกรรมต่างๆ และความเป็นจริงเสริมที่เหมือนจริงรวมถึงการกระตุ้นสมองร่วมกับการฝึกควบคุมกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการศาสตร์ทางจิตวิทยา วิทยาการปัญญา เทคโนโลยีสารสนเทศ และการแพทย์และบูรณาการระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณประเภท การวิจัยเชิงทดลอง โดยใช้แบบแผนการทดลองแบบ Pretest-Posttest Control Group Design และยังเป็นงานวิจัยเชิงลึกที่มุ่งเพิ่มตัวแปรสำคัญที่พบว่า สามารถป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อมได้ทั้งการบริหารจัดการสมองและความจำ จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมที่ต้องการพัฒนาหน้าที่การบริหารจัดการสมอง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เพราะได้ออกแบบห้องการเรียนรู้เสมือนจริง โดยอยู่ที่บ้านก็สามารถฝึกได้
ส่วนการพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต ผู้วิจัย กล่าวว่า จะมีการนำโปรแกรมความเป็นจริงเสมือนที่พัฒนาขึ้นไปต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมผู้สูงวัย โดยเน้นเป็นนวัตกรรมแบบยั่งยืน หรือบูรณาการร่วมกับโปรแกรมอื่น ๆ .ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยนวัตกรรมดังกล่าวสามารถนำไปเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการของสมองในส่วนของความใส่ใจ ความจำขณะคิด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการวางแผนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมกับกลุ่มตัวอย่างอื่น ๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยอื่น ๆ เป็นต้น