ADS


Breaking News

วช. ชูนักวิจัยจุฬาฯ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ปี 65 “ชีวิตกับชีววิทยาศาสตร์แห่งโลกอนาคตนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน”

วช. ชื่นชมนักวิจัยจุฬา เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2565
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2565” จากแนวคิด “ชีวิตกับชีววิทยาศาสตร์แห่งโลกอนาคตนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน” ศาสตราจารย์ ดร.อรัญ อินเจริญศักดิ์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน “NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565” ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
     วันนี้ (วันที่ 5 เมษายน 2565) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2565 ให้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อรัญ อินเจริญศักดิ์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่ม ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัย ที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงานเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชน ให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมของประเทศชาติต่อไป
     ศาสตราจารย์ ดร.อรัญ อินเจริญศักดิ์ เปิดเผย “เทคโนโลยีชีวภาพ” คือ การนำความรู้ด้านชีววิทยา โดยเฉพาะสาขาพันธุศาสตร์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในหลายรูปแบบ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การนำเอาสิ่งมีชีวิต หรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ความรู้หรือเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกระบวนการทางชีววิทยาก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทั้งทาง ชีวเคมี สรีรวิทยา และเทคโนโลยีชีวภาพก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับประเทศสู่ระดับสากลการนำกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม การรักษาสภาพแวดล้อม และการผลิตพลังงานทดแทน รวมทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ในการแปรรูปและเพิ่มคุณค่าของสินค้าที่ใช้หลักการของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตจัดเป็นเทคโนโลยีที่มาจากเทคโนโลยีชีวภาพทั้งสิ้น
     สำหรับงานวิจัย “การใช้กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไบโอไฮโดรเจน” งานวิจัยที่มุ่งเน้นการศึกษาแนวทางในการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ "ไซยาโนแบคทีเรีย" (มีชื่อเดิมว่า "สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน") ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้คล้ายกับในพืช แต่มีโครงสร้างคล้ายกับแบคทีเรียสิ่งมีชีวิต “ไซยาโนแบคทีเรีย” มีคุณสมบัติพิเศษช่วยยืดอายุในการถนอมอาหาร โดยการนำสารดังกล่าวนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยในกระบวนการถนอมอาหารช่วยเพิ่มอายุผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตรสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และจากการศึกษาวิจัยยังค้นพบว่ามีสารซันสกรีนในการป้องกันแสงแดด UV เกิดการต่อยอดทางความคิดในการสร้างผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจากสารไซยาโนแบคทีเรียในอนาคต และยังพบว่าไซยาโนแบคทีเรียยังสามารถผลิต “โพลิไฮดรอกซีบิวทิเรต” เป็นรูปแบบของพลาสติกชีวภาพสามารถใช้งานในลักษณะเดียวกับพลาสติก “โพลิโพรพีลีน” ที่เป็นเม็ดพลาสติกมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ โพลิไฮดรอกซีบิวทิเรตสามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วช่วยลดมลพิษเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาดอีกแนวทางหนึ่ง ไซยาโนแบคทีเรียยังมีคุณสมบัติในด้านของการผลิต “พลังงานไฮโดรเจน”เพื่อใช้กับเซลล์พลังเชื้อเพลิงนับเป็นงานศึกษาวิจัยที่ค้นพบพลังงานทดแทนที่สำคัญในการสร้างพลังงานสะอาดแห่งโลกอนาคตเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนของประเทศชาติต่อไป
     ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้จะเป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยาที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงแห่งโลกอนาคต “ก้าวล้ำไปกับชีววิทยาศาสตร์ประเทศไทยในยุคแห่งนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน”