ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เริ่มแล้ว! สมัชชาฯ เฉพาะประเด็น ‘ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉ.3’
เริ่มแล้ว! สมัชชาฯ เฉพาะประเด็น
‘ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉ.3’ แสวงหาฉันทมติสร้างเข็มทิศสุขภาพไทย
สช.พร้อมภาคีเครือข่ายร่วมเปิดฉากเวที “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” ให้ความเห็น-ข้อเสนอต่อเนื้อหา “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” วางเข็มทิศกำหนดอนาคตนโยบาย-ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ พร้อมสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อน มุ่งเป้าสู่การสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม-ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในระยะ 5 ปี
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เพื่อรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ทั้งรูปแบบ on-site และ online โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด ณ อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์
ดร.สาธิต เปิดเผยว่า สุขภาพนั้นเป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นชัดเจนแล้วว่าเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่เพียงเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ทุกคนในสังคมล้วนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการดูแลซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับเนื้อหาตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่านอกจากสุขภาพกายแล้ว ยังต้องมองรวมไปถึงสุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพของสังคมด้วย
ทั้งนี้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ยังได้กำหนดให้มีการจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน พร้อมกำหนดให้ต้องมีการทบทวนอย่างน้อยทุก 5 ปี ซึ่งธรรมนูญฯ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นฉบับที่ 2 ที่ได้มีการประกาศใช้เมื่อปี 2559 มาถึงขณะนี้ที่กำลังมีการทบทวนและจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3
“ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ เปรียบเสมือนเป็นภาพอนาคตของระบบสุขภาพไทย ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการทำงานได้โดยฉบับที่ 3 นี้ได้ปรับให้มีความสอดคล้องมากขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งเทคโนโลยี โรคระบาดใหญ่ การก้าวสู่สังคมสูงวัย จึงเห็นได้ว่าสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่กว้างมาก และไม่ได้เป็นแค่เรื่องของ สธ.เท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงาน องค์กร กลไกต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ รวมถึงคนในชุมชน ที่ล้วนมีบทบาทในการร่วมกำหนดสุขภาพของเราและของประเทศ ผ่านการสร้างธรรมนูญฯ ในวันนี้ ที่จะถูกนำไปขับเคลื่อนได้จริงต่อไป” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวว่า ในกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ได้ยึดหลักความสอดคล้องกับนโยบาย การทำงานวิชาการและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ความเป็นเจ้าของ การมีส่วนร่วม และการรับรู้เรียนรู้ของสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งในขั้นตอนก่อนการยกร่างนั้น ได้มีการรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีหลากหลายภาคส่วน โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายของธรรมนูญฯ ในระยะ 5 ปีไว้ว่า “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
สำหรับการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้รับฟังความเห็นและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญของร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนธรรมนูญระบบสุขภาพฯ โดยความเห็นของทุกภาคส่วนในวันนี้ ทางคณะกรรมการจัดทำฯ จะรับฟังไว้ทั้งหมดและนำไปปรับแก้ไขร่างธรรมนูญฯ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) พิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอต่อ ครม. รัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
“บทเรียนของโควิด-19 ทำให้พวกเราเห็นชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่จริง และหากไม่จัดการแล้วก็จะยิ่งมีช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของทุกคนและของสังคมโลกด้วย หรือที่เราเรียกว่า one world one destiny มีสุขก็สุขด้วยกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน ดังนั้นธรรมนูญฯ ฉบับนี้ จึงมีแนวคิดสำคัญที่การมองระบบสุขภาพแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพคน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะระบบสุขภาพที่ดีและเป็นธรรม จะนำมาซึ่งความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด SDGs นั่นเอง” ดร.สุวิทย์กล่าว
ขณะที่ นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า การสื่อสารทางสังคม เป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการจัดทำธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ทางกรมประชาสัมพันธ์จึงยินดีรับบทบาทในการสร้างความเข้าใจ และการสื่อสารสาระสำคัญของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ให้กับภาคีในทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำธรรมนูญฯ ไปขับเคลื่อนร่วมกันได้ต่อไป
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากการรับฟังความเห็น สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมแล้ว สมัชชาสุขภาพฯ ในครั้งนี้ยังเป็นเวทีของการสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อนร่วมกัน ของแต่ละหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่ในระดับชุมชน บุคคล ที่สามารถนำเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไปปรับใช้ได้ตามบทบาทและหน้าที่ของตน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของระบบสุขภาพที่เป็นธรรม โดยหลังจากเวทีในวันนี้ ทาง สช. ยังจะมีการเดินหน้าทำความเข้าใจเพื่อการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ผ่านกลไกของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ควบคู่กันไปด้วย