กองทุนพัฒนาสื่อฯ เผยผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ระยะที่ 2 ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และ Thai PBS
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ระยะที่ 2 ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ในระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัย ทดลองและพัฒนาการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยช่วงอายุ 3-6 ปี ที่มุ่งเน้นให้มีความเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กช่วงอายุ 3-6 ปี ซึ่งเป็นการต่อยอดกระบวนการศึกษาวิจัยและพัฒนาจากระยะที่ 1 ในปีที่ผ่านมา การพัฒนาครั้งนี้ได้ต่อยอดให้เกิดเป็นสื่อนำร่องหรือสื่อต้นแบบสำหรับการพัฒนาแนวทางการผลิตสื่อสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี ในอนาคต รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยประเภทจอ อันสามารถนำไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต
นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดเผยว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สำคัญอย่างยิ่ง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงมีแนวทางในการศึกษาและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งในช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงวัยที่เริ่มเปิดรับสื่อประเภทจอ (Screen Media) ได้ในความยาวที่เหมาะสม และจากองค์ความรู้ด้านพัฒนาการเด็กช่วงวัยดังกล่าวและสถานการณ์สื่อสำหรับเด็กปฐมวัยในปัจจุบัน จึงร่วมมือกับภาคีทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ คือ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำงานต่อเนื่องพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยระยะที่ 1 โดยมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3-6 ปี ที่สามารถนำไปเผยแพร่และประยุกต์ใช้ได้ต่อไป”
ทางด้าน ผู้ช่วยศาตราจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาสื่อเพื่อเด็กปฐมวัยมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยยังต้องการพัฒนาองค์ความรู้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง อีกทั้งกระบวนการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นมีรายละเอียดที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและใส่ใจในทุกขั้นตอน และต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้หลากหลายสาขา ทั้งทางด้านสื่อและด้านพัฒนาการเด็ก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะจึงจำเป็นจะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดผลผลิตที่เป็นสื่อที่ปลอดภัยและ สร้างสรรค์สำหรับเด็กอย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์สอดคล้องกับพัฒนาการเด็กอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้เราได้นำรายการต้นแบบจากระยะที่ 1 มาพัฒนาต่อยอดโดยมีการกระบวนการทำงานร่วมกัน กับสหวิชาชีพ ทีมผู้ผลิต กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และทีมผู้วิจัยจน ได้ผลงานสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น 2 รายการ รวม 8 ชิ้นงาน คือ 1.รายการจังหวะคิดส์ สำหรับเด็กอายุ 3-4 ปี จำนวน 4 ตอน และ 2.รายการ Flowers Power สำหรับเด็กอายุ 5-6 ปี จำนวน 4 ตอน ทั้งนี้ผู้วิจัยและทีมสห วิชาชีพผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเห็นว่ารายการ Flowers Power สามารถใช้เป็นรายการต้นแบบเพื่อการผลิตรายการสำหรับเด็กปฐมวัยได้ ส่วนรายการจังหวะคิดส์ยังต้องมีการปรับพัฒนาต่อไปซึ่งจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นรายการต้นแบบในอนาคตต่อไป นอกจากนี้การศึกษาวิจัยใน
ครั้งนี้ยังได้ องค์ความรู้ในประเด็นการพัฒนาด้านเนื้อหา ด้านกลวิธีการเล่าเรื่อง ด้านลักษณะ Character ของพิธีกรและตัวละคร (ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ) และทำ Audience Test เพื่อนำไปปรับปรุงผลงาน และเป็นจุดสำคัญเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยต่อไป
พร้อมกันนี้จากการวิจัยนี้เราพบว่าองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนาผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) นอกจากจะมีรายละเอียดที่ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับพัฒนาการ ทั้งทางกาย ทางอารมณ์ ทางสังคมแล้ว เรื่องการออกแบบเนื้อหายังต้องอยู่บนแกนสาระสำคัญ โดยมีเช็คลิสต์ที่ 5 ข้อ ซึ่งเป็นหัวใจในการผลิตสื่อสำหรับเด็ก ดังนี้
1. กระตุ้นจินตนาการและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ( Creative Thinking & Imagination) : มีเนื้อหาที่เปิดโลกจินตนาการ ให้เด็กฝึกคิดในแง่มุมใหม่ ยืดหยุ่นและเปิดมุมมองด้านความคิดสร้างสรรค์ อาจเพิ่มทักษะการสังเกต หรือตั้งคำถามในเชิงสร้างสรรค์
2. พัฒนาทักษาทางสังคม (Social Skills) : ช่วยเพิ่มทักษะที่สำคัญในโลกยุคใหม่นี้ ทำให้เด็กๆ มีทัศนคติที่ดี มีพลังบวก การมีน้ำใจ ช่วยเหลือเพื่อนหรือคนในครอบครัว ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น มีความเข้าอกเข้าใจ และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น
3. สะท้อนและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน (Related to Daily Life) เพื่อให้เด็กเข้าใจ เข้าถึง และอินกับเนื้อหาได้ง่าย เช่น ปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ต้องเจอในชีวิตประจำวันซึ่งสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาการแก้ปัญหาอุปสรรคในเชิงบวกให้เด็ก ๆ ไปด้วยได้
4. ส่งเสริมความเข้าใจ และความภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) การรู้จักรักและภาคภูมิใจในตนเองเป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นใจ การตัดสินใจ ทำให้เด็กมีความเข้าใจโลกและมีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี อาจมีเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึก การรู้จักเคารพในสิทธิของตัวเองและผู้อื่น โดยเลือกเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเหมาะกับช่วงวัย
5. สอดแทรกบริบทแวดล้อมให้เหมาะกับสังคมไทย (Cultural Context) สามารถสอดแทรกเรื่องราวของบริบทสังคมไทยเข้าไป ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เรื่องวัฒนธรรม วิถีของสังคมไทยได้อย่างง่าย เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การปฏิบัติตัวอย่างมีมารยาทในสังคม
ซึ่งหลักการ 5 ข้อนี้ จะช่วยให้มีจุดตั้งหลักในการคิดเนื้อหา ผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กก็จะมีแผนที่ที่ชัดเจน ที่จะสร้างสื่อเด็กที่ปลอดภัย สร้างสรรค์เหมาะกับเด็ก ๆ แต่ละช่วงวัยได้ โดยผลการศึกษาวิจัยยังพบแง่มุมที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ได้ต่อไป นอกจากนี้การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ยังได้ องค์ความรู้ในประเด็นการพัฒนาด้านเนื้อหา ด้านกลวิธีการเล่าเรื่อง ด้านลักษณะ Character ของพิธีกรและตัวละคร และการทดสอบรายการกับกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย (Audience Test) ที่ทำให้ได้รับผลตอบกลับ (Feedback) จากผู้ชมกลุ่มที่เราต้องการสื่อสารจริง ๆ ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยต่อไปในอนาคตด้วย