ADS


Breaking News

“ตามรอยพ่อฯ” ตลอด 9 ปี สร้างผลสัมฤทธิ์ ศาสตร์พระราชา แก้วิกฤตได้อย่างยั่งยืน

“ตามรอยพ่อฯ” แจงผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตลอด 9 ปี สร้างการรับรู้ดีเกินคาด 

ก่อให้เกิดการตื่นตัวทุกวงการ ย้ำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น แก้วิกฤตได้อย่างยั่งยืน 

    โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) จัดงานสรุปผลความสำเร็จหลังดำเนินงานมาครบ 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2564 ผลการดำเนินงานดีเกินคาด ทั้งด้านการสร้างคนมีใจ เครือข่าย และศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นไปตามเป้าหมาย และกิจกรรมเอามื้อสามัคคีหรือการลงแขกในพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จนั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างมาก ทำให้แนวคิดในการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัติแผ่ขยายแตกตัวไปทั่วทั้ง 22 ลุ่มน้ำในประเทศ เกิดการรับรู้และกระแสความตื่นตัวที่ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนพร้อมกัน รวมถึงเกิดแรงกระเพื่อมสู่การเปลี่ยนเชิงนโยบาย 

    ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” กำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 โดยได้น้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่สู่การปฏิบัติ เป้าหมายเพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน จนสามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและการขยายผลครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ”

    ทั้งนี้ โครงการมีกรอบการดำเนินงาน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี สรุปผลสำเร็จของการดำเนินงานดังนี้ 

  • การ “สร้างคน” มีผู้เข้าอบรมและดูงานในศูนย์ฯ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานโครงการ พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก 489,984 คน พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำอื่น ๆ 826,280 คน รวมทั้งสิ้น 1,316,264  คน 

  • การ “สร้างครู” สร้างวิทยากร และครูพาทำในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในลุ่มน้ำป่าสักรวม 124 คน นอกลุ่มน้ำป่าสัก 9 คน รวมทั้งสิ้น 133 คน 

  • การ “สร้างศูนย์เรียนรู้” มีศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากโครงการ 11 แห่ง อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก 8 แห่ง และนอกลุ่มน้ำ ป่าสัก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ห้วยกระแทก) “ป่าสักโมเดล” จ.ลพบุรี, บ้านพึ่งพาตนเอง “ฟากนา ฟาร์มสเตย์” จ.เลย, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายอดิศร จ.สระบุรี, ศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาโมเดล หรือ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด จ.สระบุรี, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายพ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ วัดใหม่เอราวัณ จ.ลพบุรี, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา จ.ตาก, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง จ.อุดรธานี, และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ จ.สุรินทร์ 

    ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร  กล่าวเสริมว่า “จะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จอย่างดีทั้งในแง่ปริมาณในการสร้างคน สร้างครู สร้างศูนย์เรียนรู้ ส่วนสัมฤทธิผลในเชิงคุณภาพนั้นได้ผลดีเกินคาด การแตกตัวขยายผลสร้างแรงกระเพื่อมที่ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนพร้อมกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เริ่มจากการสั่งการจากผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นให้ดำเนินการอบรม และเปิดศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในหน่วยทหาร และยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ และโรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ‘โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง’ ของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย” 

    นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงการสรุปผลความสำเร็จว่า “ตลอดระยะเวลา 9 ปี เราได้เห็นผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพว่าโครงการได้เข้าไปช่วยในการให้ความรู้ สร้างตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเป็นล้าน ๆ ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับป่า การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ และยังสร้างแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ทั้งผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ 11 แห่งใน 7 จังหวัด รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการแบ่งปันความรู้แบบออนไลน์แก่ผู้ที่สนใจ โดยเราได้สร้างเนื้อหาในสื่อออนไลน์มากมายที่เป็นประโยชน์ อาทิ การจัดทำบทเรียน ‘คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ’ ในรูปแบบบทความและวีดิทัศน์บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ไปลงมือทำเองได้ และยังได้สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามกว่า 246,900 คน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโครงการด้วยช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์”

    ทั้งนี้ งานสรุปผลจัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี โดยตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ 9 คน 9 ปี ขึ้นเวทีร่วมเสวนา เพื่อยืนยันว่าศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้จริง 

    บุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ อ.เมือง จ.สระบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 1 กล่าวว่า “โครงการทำให้กระบวนการเรียนรู้สั้นลง ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนเมื่อก่อน เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จในภูมิสังคมที่แตกต่างกันไปในหลายพื้นที่ให้ศึกษาเรียนรู้”

    ครูศิลา ม่วงงาม ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชน บ้านหินโง่น อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 2 กล่าวว่า “ผมมีความตั้งใจจะสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป เพราะได้เห็นประจักษ์แล้วว่า ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน”

    พิรัลรัตน์ สุขแพทย์ (ผู้ใหญ่อ้อย) ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 8 สามัคคี อ.เมือง จ.ลพบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 3 กล่าวว่า “การดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทำให้การแตกตัวในการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว”

    พลเอกธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า เลขานุการคณะทำงานศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ อ.เมือง จ.ลพบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 4 กล่าวว่า “ประชาชนเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านและเดินตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอนมากขึ้น โดยเฉพาะในยามเกิดโรคระบาดหรือเกิดวิกฤตภัยต่าง ๆ ประชาชนเห็นความสำคัญของความพอเพียงและนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น”

    แสวง ศรีธรรมบุตร (ลุงแสวง) ปราชญ์แห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 5 กล่าวว่า “ความภูมิใจของผม คือ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนไม่เอางานเอาการ ให้กลับใจลุกขึ้นมาลงมือทำตามศาสตร์พระราชา หลังจากเขามาดูงานที่แปลงของผม จนปัจจุบันพื้นที่ที่เขาทำกลายเป็นศูนย์และเป็นครอบครัวต้นแบบ ตัวเขาเองก็กลายเป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปแล้ว”

    บัณฑิต ฉิมชาติ (หัวหน้าฉิม) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 6 กล่าวว่า “ตอนนี้ชาวบ้านมีข้าวกินทั้งหมู่บ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวบ้านลดการปลูกข้าวโพดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับพื้นที่ป่าของอุทยานคืนมา 3,000 กว่าไร่ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก”

    กรองกาญจน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) เจ้าของพื้นที่ “ไร่ไฮ่เฮา” อ.งาว จ.ลำปางตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 7 กล่าวว่า “ปัจจุบันพื้นที่บ้านแม่ฮ่าง จ.ลำปาง มีครัวเรือนที่หันมาทำโคก หนอง นา บนพื้นที่สูงเพิ่มขึ้นเป็น 30 กว่าแปลง ทำกันจริงจังมาก มีการเวียนกันเอามื้อทุก ๆ สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง โครงการตามรอยพ่อฯ มีการประชาสัมพันธ์และทำให้คนได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และคนที่สนใจสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาได้ง่ายขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์”

    ปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เจ้าของ "สวนฝันสานสุข" บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 8 กล่าวว่า “โครงการทำให้ปราชญ์ชาวบ้านในชัยภูมิเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายมากขึ้น จึงมีการค้นหาแกนนำที่เป็นจุดแข็งของแต่ละอำเภอ เพื่อเรียกคนที่มีใจเดียวกันมาร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งทีมใหญ่และทีมเล็ก”

    สุณิตา เหวนอก (นวล) เจ้าของพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี อ.จักราช จ.นครราชสีมา ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 9 พ.ศ. กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจที่ความตั้งใจของเรา เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลาย ๆ คน ลุกขึ้นมาทำตาม ในการสืบสานแนวคิดศาสตร์พระราชาจะยังทำอย่างต่อเนื่อง มีความตั้งใจอยากส่งต่อองค์ความรู้ให้เด็ก ๆ ในชุมชน ให้ได้มาเรียนรู้ มาทำกิจกรรมแบบค่อย ๆ ซึมซับ เพื่อเป็นการบ่มเพาะแนวคิดและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยค่ะ”

นอกจากนั้นภายในงานสรุปผลโครงการฯ ยังมี นิทรรศการและการจัดแสดงความสำเร็จ “การเดินทาง 9 ปี ตามรอยพ่อฯ” ประมวลภาพประทับใจและภาพมุมสูงของพื้นที่ตัวอย่างหลุมขนมครก  มีการอบรมหลักการออกแบบ โคก หนอง นา เบื้องต้น โดย ผศ.สุดที่รัก สายปลื้มจิตต์ อาจารย์ประจำหลักสูตร การออกแบบและการจัดการภูมิทัศน์เพื่อสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีฐานการเรียนรู้ คนมีน้ำยา, คนรักษ์แม่ธรณี, เพาะเห็ดตะกร้า, เพาะผัก  มีการจัดแสดงกองกำลังรถขุดเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่เชี่ยวชาญการขุด โคก หนอง นา โมเดล  ซึ่งล้วนแต่ฝากผลงานมาแล้วทั่วประเทศ และมีการเปิดตลาดเครือข่ายกสิกรรมจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จ ที่เคยร่วมจัดกิจกรรมมาตลอดโครงการ

ผู้ที่สนใจติดตามการดำเนินโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org