ADS


Breaking News

13 มี.ค. นี้ สมาคมโรคไตฯชวนร่วมกิจกรรมวันไตโลก 2565 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

สมาคมโรคไตฯจัดกิจกรรมวันไตโลก 2565

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอเชิญประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมการจัดงานสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2565 ในวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 ณ ลานเอเทรียม ชั้น 3 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ด้านสปสช.เผยตัวเลขผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในปี 2565 พร้อมร่วมกันแนะแนวทางรักษาจะเน้นที่การชะลอความเสื่อมของไตเป็นหลัก โดยจะรักษาโรคที่เป็นสาเหตุที่นำมาสู่โรคไตเรื้อรังให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีและวิธีการรักษาที่เหมาะสม

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, เครือข่ายลดบริโภคเค็ม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),  มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการบริโภคลดเค็มของคนไทย จึงได้จัดกิจกรรมวันไตโลก ในปี 2565 ขึ้น ภายใต้คำขวัญเสริมสร้างภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” โดยในปีนี้กิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6- 13 มีนาคม 2565 และจะจัดงานวันไตโลก ในวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 ณ ลานเอเทรียม ชั้น 3 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ภายในงานมีการตรวจสุขภาพโรคไตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยขอความร่วมมือประชาชนที่ต้องการร่วมงานและรับการตรวจสุขภาพ ควรเตรียมเอกสารแสดงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และใส่หน้ากากอนามัย โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงาน ดังนั้นโปรดนำเอกสารแสดงผลการตรวจ โดยวิธี RT-PCR หรือผลตรวจ ATK ที่ยืนยันว่าไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) โดยผลการตรวจต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการรับวัคซีน อย่างน้อย 2 เข็ม

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ  อาทิ เสวนาการให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ เสริมสร้างภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต, การแสดงของเหล่าศิลปิน ดารานักแสดงจากช่อง 3 และช่อง 7, การสาธิตการปรุง เมนูอร่อย ลดความเสี่ยงโรคไต พร้อมจัดจำหน่ายเสื้อวันไตโลกประจำปี 2565 ในราคาพิเศษเพียงตัวละ 300 บาท สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-718 1898 หรือ เว็บไซต์ www.nephrothai.org

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินนโยบายผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมได้ ตั้งแต่วันที่  1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565  เป็นต้นไป ถือเป็นของขวัญปีใหม่ตั้งแต่ต้นปีให้กับพี่น้องประชาชน การเกิดโรคไตวายเรื้อรังมีความเสี่ยงในทุกเพศทุกวัย การปรับระบบการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไตในระยะของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นในการให้สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนั้น สปสช.พยายามขอให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งใช้วิธีล้างไตที่ทางหน้าท้อง ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ที่เองที่บ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระและลดจำนวนเจ้าหน้าที่ ที่ต้องมาดูแลเรื่องนี้ รวมทั้งเน้นที่ตัวระบบเป็นหลัก โดยมีกติกาว่าถ้าผู้ป่วยไม่ประสงค์จะล้างไตทางหน้าท้องและไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือด ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ขณะเดียวกันยังลดภาระค่ารักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งสิ้น จำนวน 63,694  ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จำนวน 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 24,256ราย  และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO จำนวน 6,546 ราย จะเห็นได้ว่าโรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่คุกคามสุขภาพประชากร และจะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ปี

“โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นโรคที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก ไม่เพียงแต่กระทบต่อสุขภาพ แต่ยังกระทบต่อความมั่นคงของครอบครัว สปสช.จึงได้ดำเนินสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่แต่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ยังช่วยรับภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ให้ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล โดยในปี 2565  นี้ บอร์ด สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณ 9,731.3395 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุมและทั่วถึง”

     รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวเสริมว่า โรคไตนั้นในประเทศไทยมีผู้ป่วยรวมถึงกลุ่มเสี่ยงมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากคนไทยนิยมบริโภคเค็มเกินกว่ากำหนด  2 – 3 เท่า หรือประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน มีโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง คือ “โรคไตเรื้อรัง” ซึ่งเมื่อเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต แต่เราสามารถเลี่ยงความทรมานนี้ได้ เพราะโรคนี้ป้องกันได้  ไตเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตเกิดความเสื่อมทีละน้อย จนการทำงานของไตลดลงมาก ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการล้างไต หากการทำงานของไตมีความผิดปกติมากกว่า 3 เดือนจะเรียกว่าไตเรื้อรัง หากแพทย์วินิจฉัยและระบุว่าเป็นโรคนี้ หมายความว่า ไตไม่สามารถกลับมาเป็นปกติและจะมีความเสื่อมมากขึ้น โดยระดับความเสื่อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนเสื่อมทีละน้อย บางคนเสื่อมอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยและการควบคุมโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระยะ ดังนั้นหากปัสสาวะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ หรือสีเข้มกว่าปกติ ปัสสาวะมีฟองมาก  , ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ 3-4 ครั้งขึ้นไป, ปัสสาวะแสบขัด กะปริบกะปรอย,  มีอาการปวดหลัง ปวดเอว อาจมีความผิดปกติบริเวณนิ่วในไต ไตอักเสบ และความดันโลหิตสูงขึ้น ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไต

สำหรับวิธีการเลือกรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เหมาะสมนั้น  แบ่งทางเลือกได้ 3 วิธี ได้แก่  1.การฟอกไตทางหน้าท้อง (Peritoneal Dialysis :PD) คือ การบำบัดทดแทนไตโดยอาศัยผนังในช่องท้องเป็นตัวกรองในการแลกเปลี่ยนเอาของเสียของจากร่างกาย โดยคนไข้จะต้องได้รับการผ่าตัดวางสายทางหน้าท้องเพื่อเป็นทางนำน้ำยาล้างไตเข้า-ออกจากร่างกาย วิธีนี้สามารถทำเองได้ที่บ้าน แบ่งได้เป็น 2 แบบย่อย คือ ทำด้วยตัวเองหรือใช้เครื่องอัตโนมัติ

ข้อดี คือ คนไข้สามารถทำเองได้ที่บ้านวันละ 4 รอบ หรือทำวันละครั้งตอนนอนหากใช้เครื่อง ไม่ต้องเดินทางมารพ. บ่อยๆ ความเสี่ยงของการเกิดความดันตกระหว่างฟอกมีน้อย และมีโอกาสติดเชื้อน้อยมากหากทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

ข้อเสีย คือ การเดินทางไปพักที่อื่นๆ เช่นนอนรพ. ต้องพกเอาน้ำยาล้างไตไปด้วย และหากทำผิดขั้นตอนหรือมีการปนเปื้อนก็มีโอกาสติดเชื้อได้

2.การฟอกไตทางเส้นเลือด (Hemodialysis :HD) คือ การนำเลือดออกจากเส้นเลือดที่ผ่าตัดไว้หรือผ่านทางเส้นฟอกไตแบบชั่วคราวและแบบกึ่งถาวร ผ่านตัวกรองและเครื่องไตเทียม โดยคนไข้มีความจำเป็นต้องมารพ.2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมากกว่าหากมีปัญหาเพิ่มเติม

ข้อดี คือ ไม่ต้องทำเอง อาศัยพยาบาลไตเทียมที่ได้รับการอบรมอย่างเชี่ยวชาญในการให้การรักษาพยาบาล สามารถกำหนดปริมาณน้ำออกจากร่างกายได้ ใช้เวลาน้อยกว่า/วัน (เฉลี่ย 4ชม./ครั้ง/วัน)

ข้อเสีย คือ ต้องเดินทางไปรพ. /คลินิกไตเทียมบ่อย เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีปัญหาความดันตกได้ง่าย หรือหากมีโรคประจำตัวรุนแรง เช่น โรคหัวใจ ก็อาจมีความเสี่ยงความดันตก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่ม อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการการติดเชื้อผ่านทางสายฟอกเลือดทั้งแบบชั่วคราวและแบบกึ่งถาวร หากดูแลรักษาสายฟอกไตผิดวิธีหรือใช้นานเกินกำหนด

3.การปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation :KT) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและยืดอายุขัยของคนไข้ไตเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ยืนยาว โดยสามารถแบ่งเป็นการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิต (เครือญาติ สามี ภรรยา) หรือผู้บริจาคสมองตาย

ข้อดี คือ การรักษาวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด ไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือฟอกไตในการดำเนินชีวิต

ข้อเสีย คือ ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันตลอดระยะเวลาที่ไตบริจาคยังทำงานอยู่ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจมีข้อแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด เช่นการเสียเลือด การปฏิเสธอวัยวะ เป็นต้น และการรอคอยอวัยวะเป็นระยะเวลานานเนื่องจากผู้บริจาคมีจำนวนน้อยกว่าผู้รอรับซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในประเทศไทย

การเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตทั้งสามวิธีนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ได้แก่ โรคประจำตัวของคนไข้ ภาระในการเดินทางไป-กลับสถานพยาบาล ความเชี่ยวชาญของบุคลากรของสถานพยาบาลใกล้บ้าน และความเห็นจากทีมแพทย์ผู้ดูแล โดยทั้งสามวิธีที่กล่าวข้างต้น  คนไข้สามารถใช้สิทธิ์สปสช.ในการรักษาได้ การที่มี นโยบายล้างไตฟรี นอกเหนือจากการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ ที่มีความเชี่ยวชาญในการฟอกเลือดยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งทางสมาคมโรคไตฯ ก็ได้ตระหนักในจุดนี้ จึงมีแนวทางในการขยายการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลวิชาชีพเพื่อรองรับผู้ป่วยในอนาคต ในส่วนของทางภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนการบริจาคอวัยวะและการเข้าถึงการปลูกถ่ายไตให้มากขึ้น โดยมีการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเชิญชวนให้ประชาชนบริจาคอวัยวะ ผ่านทั้งช่องทางสื่อต่างๆ หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยราชการ และที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรังในประชาชน เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวและยั่งยืนที่สุด

     สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6- 13 มีนาคม 2565 และจะจัดงานวันไตโลก ในวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 ณ ลานเอเทรียม ชั้น 3 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์