ADS


Breaking News

ชีวิตใหม่ไร้พุง!.มากกว่าความมั่นใจคือสุขภาพดี

ชีวิตใหม่ไร้พุง...มากกว่าความมั่นใจคือสุขภาพดี

         โดย พญ.ขวัญนรา  เกตุวงศ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์

คุณรู้หรือไม่ว่า โรคอ้วนเป็นโรคอย่างหนึ่ง เป็นโรคเหมือนกับโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือ โรคอื่น ๆ แต่ที่น่าเห็นใจคือ คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังไม่เห็นว่าผู้ป่วยโรคอ้วนเป็นโรค ดังนั้นเราจะมารู้จักกับโรคอ้วนกันค่ะ

โรคอ้วนหมายถึง สภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ สำหรับในคนเอเชียนั้น เราจะถือว่าอ้วน เมื่อมีค่าดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป และถ้าสูงกว่า 30 จะถือว่าเป็นโรคอ้วนอันตราย โดยค่าดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอ สามารถคํานวณได้จากอินเทอร์เน็ต โรคที่สัมพันธ์กับความอ้วน ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ ข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เสี่ยงต่อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย อัมพฤกษ์อัมพาต และอาจเสียชีวิตได้ โดยผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุก ๆ ค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นครั้งละหนึ่ง จะทําให้ผู้ป่วยมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 8-10 ปีเทียบกับคนน้ำหนักปกติ

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากถึงประมาณ 9% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุนั้นมาจากลักษณะการใช้ชีวิตที่มีการขยับตัวน้อย ไม่ค่อยได้ออกกําลังกายและการรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาลและไขมันสูง สำหรับการรักษาโรคอ้วน ได้แก่ การคุมอาหาร โดยเน้นการทานโปรตีนเป็นหลัก หลีกเลี่ยง แป้ง น้ำตาล น้ำหวาน ของทอดและของมัน การออกกําลังกาย แบบการ์ดมากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์หรือการเดินให้เกิน 10,000 ก้าวต่อวัน  การใช้ยาลดน้ำหนัก ภายใต้การดูแลของแพทย์และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนอันตรายนั้น จะมีฮอร์โมน สารเคมีและระบบการควบคุมความหิวอิ่มในร่างกายแตกต่างจากคนน้ำหนักปกติ  ทําให้การลดน้ำหนักด้วยการปรับลักษณะการใช้ชีวิต เช่น การออกกําลังกายและคุมอาหาร มีโอกาสสำเร็จเพียงแค่ 3% เท่านั้น สำเร็จในที่นี้หมายถึง คนที่น้ำหนัก 150 กิโลกรัม จะลดลงเหลือ 75 กิโลกรัมได้ในระยะเวลาหนึ่งปีนั้นทําได้ยากเพราะน้ำหนักเยอะ หัวเข่ามีปัญหาไม่สามารถออกกําลังกายหนัก ๆได้ แค่เดินก็เหนื่อยแล้วและระบบควบคุมความหิวอิ่มของร่างกาย เป็นต้น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาชัดเจนว่าคนที่เป็นโรคอ้วนอันตรายที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 32.5 ขึ้นไป ร่วมกับมีโรคประจําตัว หรือผู้ที่ไม่มีโรคประจําตัว แต่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป ที่ได้พยายามออกกําลังกายและคุมอาหารแล้ว แต่ว่าน้ำหนักไม่ลดลงหรือลงเพียงเล็กน้อย จะสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินลงได้ 50 - 60% จากการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนอันตราย การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนอันตราย เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารและหรือลดการดูดซึมสารอาหาร และยังมีการตัดกระเพาะอาหารส่วนที่คอยสร้างฮอร์โมนหิวออกไปด้วย ทําให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง โดยที่ไม่รู้สึกหิวหรือรู้สึกหิวน้อยลง ทําให้น้ำหนักลดลงได้ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็กและฟื้นตัวไว

     อย่างไรก็ตามหลังการผ่าตัดก็ต้องอาศัยนิสัยของผู้ป่วยในการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และออกกําลังกายเป็นประจํา เพื่อให้น้ำหนักลดลงได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นน้ำหนักของคนปกติและสุขภาพดี โดยการผ่าตัดจะสามารถรักษาโรคร่วมต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเกาท์ โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นต้น ทําให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารถหยุดยาโรคประจําตัวหรือลดยาที่รับประทานลงได้ สุดท้ายนี้การเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกําลังกายเป็นประจําและการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการลดน้ำหนัก และทําให้มีสุขภาพดีแบบยั่งยืน  หากต้องการติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะโรคอ้วน ติดต่อโทรศัพท์ 095-371-6796
, 02-033-2900 ต่อ 1175 และ 1160