ก.วัฒนธรรมเปิดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION สุดยิ่งใหญ่
กระทรวงวัฒนธรรมเปิดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION อย่างยิ่งใหญ่ พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ ขยายตลาดผู้ซื้อสินค้าวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ
ครั้งแรกในไทยกับสุดยอดงานแสดงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยที่ยิ่งใหญ่ระดับชั้นยอด TOP CLASS ระหว่างวันที่ 16 - 20 กุมภาพันธ์นี้ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 14.00 น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION โดยมี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า “งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION ดำเนินงานภายใต้ “โครงการการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand : CCPOT) สู่สากล” ซึ่งเป็นการปรับบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมชุมชนไทย สู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและขยายตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งความสำคัญของงานนี้ คือการที่ผู้ประกอบการชุมชนวัฒนธรรมไทยจะได้เรียนรู้รูปแบบธุรกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของตนได้ต่อไป แม้ที่ผ่านมาจะประสบกับอุปสรรคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโรคโควิด -19 แต่การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการของไทยได้พบปะคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อสร้างช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตามแนวทาง ล้มแล้วลุกไว ของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง พลิกวิกฤติเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน”
งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT GRAND EXPOSITION) กำหนดจัดขึ้น 5 วัน ระหว่างวันที่ 16 - 20 กุมภาพันธ์ 2565 ใช้พื้นที่ 2 โซนของศูนย์การค้าสยามพารากอน คือ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจาก 1,000 ชุมชนทั่วประเทศ กว่า 5,000 รายการ ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นจากทั่วทุกภูมิภาค ในมิติใหม่ที่ไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อน มีทั้งผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยในระดับพรีเมียมที่ต้องพรีออเดอร์ในงานนี้เท่านั้น และผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่สามารถเป็นของฝากของที่ระลึกได้ ดังนี้
1. พาร์ค พารากอน ชั้น M โซนของฝากจากชุมชนวัฒนธรรม
จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยขนาดเล็ก สุดเก๋ สามารถมอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึกได้ รวมถึงอาหารพื้นถิ่นแปรรูป และสมุนไพรปลอดสารพิษจากทุกภูมิภาค
2. รอยัล พารากอน ฮอลล์ 1 - 3 ชั้น 5 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งเป็น 6 โซน ดังนี้
2.1 โซน ICHAMP ระดับเพชร มีผลิตภัณฑ์ ICHAMP ระดับเพชร หรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นสินค้ากลุ่มพรีเมียม มีให้ชมในโซนนี้ 10 รายการ เช่น เก้าอี้เงินแสนตอก ช็อกโกแลตทุเรียนนนท์
2.2 โซน ICHAMP ระดับทอง ผลิตภัณฑ์ ICHAMP ระดับทอง หรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าทั่วไป มีให้ชมในโซนนี้ 240 รายการ เช่น เครื่องประดับมุกอันดามัน เครื่องประดับบ้าน เครื่องทองเหลืองตะเพียนทอง เครื่องประดับบ้านแก้วเป่า ฯลฯ
2.3 โซน CCPOT ระดับเอก มีผลิตภัณฑ์ CCPOT ระดับเอก หรือผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมียมให้ชม 76 รายการ
2.4 โซนสยามแพรพรรณ หรือโซน CCPOT ระดับโท ที่เป็นกลุ่มผ้าทอ มีสินค้าให้ชม 150 รายการ เป็นผ้าทอมือลวดลายสวยงามตามวัฒนธรรมชุมชนแต่ละแห่ง
2.5 โซนรังสรรค์ภูษา หรือโซน CCPOT ระดับโท ที่เป็นสินค้ากลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย มีสินค้าจัดแสดง 450 รายการ
2.6 โซนนานาหัตถศิลป์ หรือโซน CCPOT ระดับโท ที่เป็นสินค้ากลุ่มหัตถกรรม มีสินค้าจากงานหัตถกรรม ที่รังสรรค์ขึ้นจากวัฒนธรรมชุนชนกว่า 200 รายการ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงกลุ่มผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ร่วมมือกับกลุ่มแบรนด์ชื่อดังในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ อาทิ เดอะ ช็อกโกแลต แฟคทอรี่ ค่ายมวยบัญชาเมฆ กระเป๋าหนังจระเข้ จากแบรนด์ S'uvimol ดีไซเนอร์จากห้องเสื้อ 27Friday เป็นต้น เพื่อสร้างสรรค์สุดยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยระดับพรีเมียม ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานพัฒนาและต่อยอดรูปลักษณ์ ตลอดจนประโยชน์การใช้งานให้ตรงตามความต้องการของตลาด
ในส่วนของการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) นั้น หลังจากที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ทำการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายกว่าหมื่นราย เน้นผู้ซื้อรายใหญ่ที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มเอกชนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศประสงค์จะนำผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยไปทำตลาดต่อยอดนั้น อาทิ กลุ่มบริษัทเทรดเดอร์ที่นำสินค้าไปจำหน่ายที่ประเทศจีนและภายในสนามบินจีน กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรม กลุ่มห้างสรรพสินค้าตลาดรีเทล สภาหัตถกรรมโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มตลาดอีคอมเมิร์ซ และนอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบงานหัตถศิลป์ในแถบประเทศตะวันออกกลางอีกหลายรายที่ได้ยืนยันเข้าร่วมเจรจาธุรกิจผ่านทางระบบออนไลน์ โดยกระทรวงฯ คาดว่าจะเกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงานได้ไม่น้อยกว่า 200 คู่ และมีมูลค่าคาดการณ์ซื้อขายจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสามารถสร้างงานและรายได้ของประชาชนและชุมชน”
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมงานและรับชมงานแสดงสินค้าทางเลือกใหม่ด้วยรูปแบบไฮบริดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง Virtual Exhibition ซึ่งผู้เข้าชมงานผ่านทางออนไลน์จะได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ สามารถเดินทัวร์ในงานได้ทุกโซนการจัดแสดงเหมือนมาเดินชมงานจริง และสามารถพูดคุยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากฟังก์ชัน chat กับผู้ดูแลระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมงได้อีกด้วย
กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION ระหว่างวันที่ 16 - 20 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และลาน พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือรับชมงานในรูปแบบ Online Virtual Exhibition ได้ที่เว็บไซต์ www.ccpot.in.th และสายด่วนวัฒนธรรม 1765