วช. เร่งผลักดัน นักวิจัย หนุนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อผู้บริโภครุ่นใหม่ ยกระดับ SMEs เขาค้อ สู่เชิงพาณิชย์
วช. จับมือ นักวิจัย สร้าง healthy Products เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ ต่อยอด SMEs เขาค้อ
วช. หนุนโครงการวิจัย ม.นเรศวร และ มทร.ล้านนา พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ผลักดันผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากเสาวรสและขิง สู่เชิงพาณิชย์
วันที่ 10 มกราคม 2565 ที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ สนับสนุนผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผลักดันผลงานวิจัย 3 โครงการ ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ ๓) โดยความร่วมมือของ วช. , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย ได้แก่ บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด และ บริษัท สุธัมบดี จำกัด เพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม สร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกร เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ตื่นตัวใส่ใจสุขภาพ ภายใต้กระแสนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณภาพ และมีรสชาติที่ลงตัว มากกว่าผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ในท้องตลาด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพันธกิจสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย“งานวิจัยและนวัตกรรม”จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการภาคใต้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ร่วมกับ สวทช. , สกสว. และ SMEs ในพื้นที่ ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเอาผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช.มีอยู่ ไปส่งเสริม เพิ่มความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ให้ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้คุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น อันส่งผลต่อการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป
ขณะที่ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House วช. กล่าวว่า ผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ทั้ง 3 โครงการ ล้วนมีการนำไปต่อยอดแล้วในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ (SMEs) ในลักษณะการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เกิดผลพวงหลายอย่าง อาทิ ด้านการจัดการปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรที่พ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวหรือมีราคาต่ำ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสปาร์คกิ้งจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการผลิตเอง ด้านสาธารณสุขในการลดหรือชะลอปัญหาการเกิดโรคต่าง ๆ จากการบริโภคอาหาร เป็นต้น อันสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงประโยชน์ในงานวิจัย
ด้าน ผศ.ดร.นรภัทร หวันเหล็ม อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าโครงการ “การผลิตน้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง” เปิดเผยว่า นักวิจัย ได้จับมือกับ บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ร่วมกันต่อยอดผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสบรรจุกระป๋อง ให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น โดยงานวิจัยนี้ได้สนับสนุนการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง โดยมีการศึกษาชนิดของพรีไบโอติก คือ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ และอินูลิน ซึ่งพรีไบโอติกจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารของผู้บริโภคเกิดความสมดุล ส่งผลดีต่อสุขภาพ ศึกษาการยอมรับของผู้บริโภคและความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
ซึ่งในวันต่อมา วช.ได้ลงพื้นที่ ณ บริษัท สุธัมบดี จำกัด ภายใต้แบรนด์ เขาค้อเฮอร์เบอรี Khaokhoherbary เพื่อสนับสนุนการแปรรูปขิงเป็นผลิตภัณฑ์ “เครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์คกิ้งจากขิงออร์แกนิคด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก” ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.นิอร โฉมศรี จากสถาบันเทคโนโลยีเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน” ผลงานของ ผศ.เฉลิมพล ถนอมวงค์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. เช่นเดียวกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนา เกิดกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพได้เป็นอย่างดี