ADS


Breaking News

วว. เร่งแปรรูปยางพาราสร้างมูลค่าเพิ่ม กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

วว. แปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม  เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศ

“ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ   โดยเฉพาะน้ำยาง (Latex) ซึ่งเป็นผลิตผลที่ได้จากท่อลำเลียงอาหารในส่วนเปลือกของต้นยางพารา สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่างๆ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตยางรถยนต์  ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวเรือน 

ยางพาราเป็นพืชที่มีอายุมากกว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศมากกว่า 12.3 ล้านไร่ กระจายอยู่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้ยางพาราจึงเป็นพืชทดแทนป่าไม้ที่มีจำนวนลดลง และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้มีมากขึ้น  อีกทั้งภายในสวนยางพารายังมีพืชชนิดอื่นๆ ที่สามารถปลูกร่วมได้ จึงทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น  รวมทั้งเป็นที่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ตามธรรมชาติ

จากจำนวนการปลูกยางพาราที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ปริมาณผลผลิตยางพาราล้นตลาด ส่งผลให้ราคาจำหน่ายตกต่ำ จำเป็นยิ่งที่ต้องนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  (วทน.) เข้าไปเพิ่มมูลค่า ช่วยตอบโจทย์และแก้ไขปัญหานี้

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลกระทบของปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดนำองค์ความรู้ วทน. มาพัฒนาโดยการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผลงานดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนี้


1.แปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 


            ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 

    ที่นอนและหมอนยางพาราเพื่อการสุคนธบำบัด    ใช้เทคโนโลยีด้านนวัตกรรมวัสดุร่วมกับการใช้กลิ่นที่สกัดจากพืชชนิดต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้นอนหลับง่าย ปรับอารมณ์ให้สมดุลและสงบ  ช่วยผ่อนคลาย  อาทิ  กลิ่นหญ้าแฝก  กลิ่นมะลิ  เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้ 3-5 เท่า

    เข็มขัดกายภาพเคลือบยางพารา   ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ  เพื่อทดแทนการใช้วัตถุดิบจากปิโตรเลียม  ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม   เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและป้องกันการบาดเจ็บหลัง อุปกรณ์กายภาพบำบัดช่วยประคองหลัง กระดูกสันหลังและลดการทำงานของกล้ามเนื้อ  ผลิตภัณฑ์กระชับกับสรีระ ไม่ลื่น ไม่กระด้าง คงทนต่อการใช้งานที่ยาวนาน

     แผ่นกันลื่นจากยางพาราสำหรับพรมอเนกประสงค์   ใช้เทคโนโลยีเคลือบยางบนผ้าเพื่อผลิตแผ่นกันลื่น ซึ่งช่วยให้แผ่นพรมอเนกประสงค์สามารถยึดเกาะกับพื้นได้ดี  ไม่ก่อให้เกิดการลื่นล้มได้ง่าย  สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า ช่วยลดการนำเข้าแผ่นกันลื่นจากต่างประเทศและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจได้ดีอีกด้วย 

     เครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ    สำหรับใช้พิมพ์รูปเท้าเฉพาะของแต่ละบุคคล โดยนำน้ำยางพาราพัฒนาเป็นถุงแบบพิมพ์รอยเท้า เพื่อใช้ในการทำแผ่นเสริมรองเท้าให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าไม่เข้ากับมาตรฐานหรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพและเล่นกีฬา ช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าของน้ำยางพาราได้ถึง 10 เท่า มีต้นทุนการผลิตเครื่องถูกกว่าท้องตลาด 75% ทดแทนการนำเข้าที่มีราคาหลายแสนบาท 

      แผ่นยางปูพื้น   ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติเป็นไปตาม มอก.2377-2551 ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้น ปัจจุบันนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานจริงที่โรงพยาบาลวังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อใช้ฝึกกายภาพสำหรับหัดเดินของผู้ป่วยและพัฒนาการเด็ก สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราได้ 4 เท่า


               ผลิตภัณฑ์เพื่อเกษตรกรรม

ถุงมือผ้าเคลือบยาง    น้ำยางจะช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่ถุงมือ ทำให้ถุงมือผ้าเคลือบยางมีคุณสมบัติป้องกันการบาดคม บาดเฉือน ลดแรงกระแทก กันลื่น นำไปใช้ในงานด้านเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้างและอุตสาหกรรม สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า และน้ำยาง 1 กิโลกรัม นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางได้ถึง 30 คู่

ชุดวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจากธรรมชาติ   ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ชั้นป้องกันการกัดเซาะจากบล็อกประสานรูปแบบใหม่ที่ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยน้ำยางพารา 2.ชั้นกรองจากผ้าเคลือบน้ำยางพารา ส่งเสริมให้เกิดการสะสมและสร้างชั้นตะกอนดินบนแผ่นวัสดุ ซึ่งพืชสามารถเจริญเติบโดโดยมีรากช่วยยึดโยงเสริมความแข็งแรงให้กับแนวตลิ่งได้ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้ 2-3 เท่า

               สิ่งประดิษฐ์/เครื่องจักร

เครื่องชุบเคลือบถุงมือผ้าด้วยยางพาราแบบกึ่งอัตโนมัติ   การทำงานของเครื่องมีการเคลื่อนที่แบบวงกลมเป็นจังหวะ โดยจังหวะหยุดการเคลื่อนที่เป็นจังหวะที่ใช้ในการจุ่มสารเคลือบและขั้นตอนการจุ่มน้ำยาง ซึ่งใช้ระยะเวลา 15-20 วินาทีต่อคู่ มีกำลังการผลิต 300 คู่/8 ชั่วโมง

              ด้านการจราจร/ก่อสร้าง 

 ผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก     ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างของยางพาราพร้อมการเสริมแรง  ทำให้ผลิตภัณฑ์มีสมบัติเชิงกลและความยืดหยุ่นสูง  ทนทานต่อสภาพอากาศในสภาวะเร่งการเสื่อมอายุ ป้องกันการขูดขีด และอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ จากยานพาหนะ  สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 3-4 เท่าจากยางพารา  ช่วยลดปริมาณการใช้สารปิโตรเคมีซึ่งมีปัญหาด้านการกำจัด/ทำลาย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

2.งานบริการวิเคราะห์ทดสอบยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา  ดังนี้ 

             2.1 วิเคราะห์คุณสมบัติของชิ้นงานยางคอมพาวด์   ได้แก่ ความหนืด ความคงรูปของยาง ความหนาแน่น ความแข็ง ความต้านทานต่อแรงตึงและความยึดเหนี่ยวเมื่อขาด ความทนทานต่อการฉีกขาด  ความต้านแรงกด ความต้านทานความร้อน จำลอง   สภาวะอากาศสำหรับการทดสอบความคงทนของวัสดุ ความทนทานต่อโอโซนการกระจายตัวของสารตัวเติมในยาง

       2.2 วิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำยางข้น   ได้แก่   ปริมาณของแข็งทั้งหมด  ปริมาณเนื้อยางแห้ง ความเป็นกรดด่าง  ปริมาณกรดไขมันระเหยง่าย ปริมาณโพแทสเชียมไฮดรอกไซด์  ความเสถียรเชิงกลของน้ำยาง ปริมาณยางจับตัวเป็นก้อน ความหนืด

       2.3  ทดสอบผลิตภัณฑ์จากยางพารา   ได้แก่ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต  หลักนำทางยางธรรมชาติ ถุงมือเคลือบยางพารา  ถุงมือยาง ฟองน้ำลาเท็กซ์ แผ่นยางปูพื้น

3. การถ่ายทอดเทคโนโลยี   เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/OTOP และผู้ประกอบการ SME มากกว่า 5 เรื่อง จำนวนเกษตรกร/ผู้ประกอบการได้รับการอบรมมากกว่า 500 คน ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่มากกว่า 10 รายครอบคลุมทุกภาคในประเทศ

4. ผลกระทบที่ได้รับ

           ผลกระทบทางเศรษฐกิจ   

- สร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์   - ช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

- ลดการนำเข้าของผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ

           ผลกระทบทางสังคม   ช่วยให้ชาวสวนยางพาราและคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

           ผลกระทบด้านเกษตรกรรม สร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรจากการขายยางพารา

           ผลกระทบด้านอุตสาหกรรม  เกิดผู้ประกอบการใหม่  เช่น  ถุงมือผ้าเคลือบยาง  หมอนเพื่อการสุคนธบำบัด และแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ

   

    ผลงานเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังกล่าว  วว. มุ่งวิจัยและพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ในก้าวต่อไปขององค์กรจะเพิ่มความเข้มข้นและขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศต่อไป


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก   ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ  วว.  ติดต่อได้ที่ โทร. 0  2577-9000 ,0 2577 9427   โทรสาร  0  2577 9426   E-mail : siriporn@tistr.or.th   เว็บไซต์  www.tistr.or.th