ADS


Breaking News

หอการค้าไทยผนึกเครือข่าย ขับเคลื่อนต่อเนื่อง “อัมพวา” โมเดลต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

หอการค้าไทยและเครือข่าย ร่วมผลักดัน

โครงการ อัมพวา โมเดลต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายยุทธนา เจียมตระการ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย  เปิดเผยว่า คณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านเครือข่ายสมาชิกของหอการค้าไทย โดยเริ่มต้นที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในจังหวัดต่าง ๆ ให้มีความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจเข้าสู่ท้องถิ่น สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมทั้งเผยแพร่ความเป็นท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก

    ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกับเครือข่าย ประกอบด้วย หอการค้า และ YEC จังหวัดสมุทรสงคราม , SCG , บิ๊กซี , โลตัส , กลุ่มมิตรผล และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ได้จัดทำ โครงการ “อัมพวา” โมเดลต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการร่วมกันพัฒนาแนวทางปฏิบัติโครงการต้นแบบ เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้ประกอบการ หน่วยงานทุกภาคส่วน เชื่อมโยงทุกกลุ่มการท่องเที่ยว  

“พื้นที่ อัมพวา มีความพร้อม ชุมชนมีความหลากหลาย มีวัฒนธรรมที่เด่นชัดของตนเอง ชุมชนเข้มแข็ง และได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม” นายยุทธนา กล่าว

นายยุทธนา กล่าวต่อว่า เครือข่ายฯ ได้ร่วมกันจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยใช้ชื่อว่า “ทริป..ดี..ต่อใจ อัมพวา สมุทรสงคราม” ระหว่างวันที่ 13 - 14 ธันวาคม 2564 ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน และส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ต้องการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยจุดเด่นของการท่องเที่ยวในทริปนี้ ได้มีการนำเสนอการนำความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (รวมถึงพืชสมุนไพร) ด้วยภูมิปัญญาไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นการท่องเที่ยวที่มีการออกแบบโปรแกรมให้ใช้ทรัพยากรน้อย แต่มีความคุ้มค่า อาทิ ใช้ซ้ำ ใช้วน และลดปริมาณของเสีย / ขยะ ให้มากที่สุด โดยเน้นการสร้างคืนระบบนิเวศน์เดิม อีกทั้ง ยังเป็นการท่องเที่ยวที่รักษาสิ่งแวดล้อม ออกแบบให้เดินทางแบบ “คาร์บอนต่ำ” และนำเสนอแนวคิดลดโลกร้อน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการวางแผนและปฏิบัติการ และการชดเชยคาร์บอนเครดิต

     อย่างไรก็ตาม  ผลของการจัดทำโครงการนี้ จะสามารถนำไปขยายผลในจังหวัดต่างๆ  รวมทั้ง สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจในการท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อไป