วช.หนุนนักวิจัยแผนงานจัดการน้ำ เร่งลงพื้นที่สร้างความเข้าใจการใช้น้ำต้นทุนให้เกษตรกร รับวิกฤติอากาศโลก
นักวิจัยแผนงานจัดการน้ำ วช. สร้างความรู้การใช้น้ำต้นทุนให้เกษตรกร รับมือสถานการณ์โลก
นักวิจัยโครงการการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างมีส่วนร่วมฯ จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติฯ ให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 20 ตำบล ของ จ.กำแพงเพชร สร้างความเข้าใจทิศทางการขับเคลื่อนโครงการฯ การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่อาชีพและรายได้บนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุนที่มี พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์โลก
จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ได้มีความพยายามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก เพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม 200 กว่าปี โดยชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จนเกิดวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้ง และฝนตกแบบผิดฤดูกาล ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยการประกาศแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำแล้ง บ่อยครั้งยังขาดความเข้าใจในสถานการณ์ ทำให้เกิดเป็นสงครามแย่งชิงน้ำระหว่างเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ซึ่งแหล่งน้ำหลัก ณ ปัจจุบันมีที่มาจากน้ำฟ้าเพียงอย่างเดียว การวางแผนบริหารจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ
คุณธีติธร จุลละพราหมณ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยขับเคลื่อนในพี้นที่ฯ เปิดเผยว่า แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปีที่ผ่านมา ได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร บนที่ตั้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) โดยเลือก 10 พื้นที่นำร่องที่อยู่ในการดูแลของคบ.ท่อทองแดงครอบคลุมทั้ง 3 สบ.(ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา) และดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรไม่กลัวการขาดน้ำ และยังเข้าใจคุณค่าของการใช้น้ำ รู้จักกลไกรูปแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแชร์และแบ่งปันน้ำตลอดสาย (ต้น-กลาง-ปลาย) บวกกับเทคโนโลยี ก่อเกิดวิธีคิดแบบใหม่ โดยใช้ข้อมูลความรู้ในการตัดสินใจ เพื่อให้รู้จักการวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเข้าใจ เกิดการตระหนักรู้ เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
และในระยะที่ 2 ทีมวิจัยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทั้งการใช้ระบบเทคโนโลยี(IOT) และการจัดการเพาะปลูก โดยการปรับเปลี่ยนพืชเพื่อลดการใช้น้ำ และยกระดับการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ไปสู่การเชื่อมโยงกลไกการตลาดจนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน และขยายผลข้อมูล/กระบวนการ/รูปธรรมในการบริหารจัดการน้ำผ่านกลไกการมีส่วนร่วมไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยเมื่อวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยโครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานและหน่วยงานองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร นำ
นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานและหน่วยงานองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร
โดย คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการฯ จัดเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติฯ ให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งเจ้าหน้าที่ คบ.ท่อทองแดง เกษตรกรในพื้นที่ 20 ตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางในการขับเคลื่อนโครงการและติดตั้งหลักคิด ความรู้ และเทคนิคเครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชนในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ทบทวนทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่การสร้างอาชีพบนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุน และแลกเปลี่ยนแนวทางการหนุนเสริมยกระดับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้บนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุน
ซึ่งผลลัพธ์การอบรมทำให้เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามตำบล เกษตรกรได้เห็นเครือข่ายความเชื่อมโยงของสายน้ำ หน่วยงานในพื้นที่เกิดความเข้าใจในแผนการดำเนินงานของโครงการวิจัยฯ พร้อมร่วมมือให้การสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ยังทำให้เกิดการวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน เตรียมรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ หนุนเสริมยกระดับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ บนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุน และผลักดันให้เป็นโครงการความร่วมมือระดับจังหวัดกันต่อไป “เพราะน้ำไม่ได้มีเหลือเฟืออีกต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ การจะหวังพึ่งแต่น้ำฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องอยู่ได้ บนน้ำต้นทุนที่มี และพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์”