ADS


Breaking News

ความท้าทาย! หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) ต่อภาคธุรกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก หลังยุคโควิด - 19

“บทบาทหน้าที่ของหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) ต่อภาคธุรกิจไทย
กับเศรษฐกิจโลก หลังการแพร่ระบาดโควิด - 19”
     17 ธันวาคม 2564 – หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) จัดงานแถลงข่าว “บทบาทหน้าที่ของหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) ต่อภาคธุรกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก หลังการแพร่ระบาดโควิด - 19” ณ อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมเผยแผนงานที่จะเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยสู่ระดับสากล และผลักดันเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด
     ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้านานาชาติ หรือ International Chamber of Commerce (ICC) เป็นองค์กรเอกชนนานาชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1919 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในการกำหนดและจัดทำกฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การการค้าโลก (WTO) โดย ICC เป็นองค์กรเอกชนแห่งเดียวที่ได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ
     สำหรับหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย หรือ International Chamber of Commerce – Thailand (ICC Thailand) ในฐานะสมาชิกและตัวแทนของหอการค้านานาชาติ (ICC) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบการค้าและการลงทุนในเวทีโลก และเป็นตัวแทนของภาคเอกชนไทยในการเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ปัจจุบัน หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) มีการบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารและดำเนินงานโดยผ่านคณะกรรมาธิการ (Commission) ด้านต่างๆ 10 สาขา เช่น ด้านอนุญาโตตุลาการและการระงับข้อพิพาท ด้านการธนาคาร ด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติทางการค้า ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นต้น
     ที่ผ่านมา หอการค้านานาชาติฯ ได้เป็นกระบอกเสียงให้กับภาคธุรกิจไทยในการเสนอข้อคิดเห็นและกำหนดกฎระเบียบทางการค้า ซึ่งเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ได้แก่ กฎของหอการค้านานาชาติสำหรับใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้า หรือ International Commercial Terms (Incoterms®), ประเพณีและวิธีปฏิบัติสำหรับเครดิตที่มีเอกสารประกอบ หรือ Uniform Customs and Practice for Documentary Credits (UCP) และ ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Rules) นอกจากนี้หอการค้านานาชาติฯ ได้เผยแพร่ความรู้ ข้อมูลสำคัญ และเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ผ่านการจัดฝึกอบรม สัมมนา และร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมระดับสากล ตลอดจนเป็นตัวกลางในการประสาน ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ แก่สมาชิกและผู้ประกอบการ ผ่านเครือข่ายประเทศสมาชิกของ ICC กว่า 100 ประเทศทั่วโลก
     ประธานหอการค้านานาชาติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของไทยในปี 2565 ยังคงมีความท้าทายอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ปัญหาค่าระวางเรือ ปัญหาด้าน supply chain disruption และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ล้วนมีผลกระทบโดยตรงและเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยหอการค้านานาชาติฯ เล็งเห็นว่า ฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ คือการพัฒนาศักยภาพและความรู้ของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ให้มีความทันสมัย รู้เท่าทัน พร้อมรับมือกับความเสี่ยงทางธุรกิจ และสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้
     ในปี 2565 นี้ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ จึงได้มุ่งเน้นแผนการดำเนินงานเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 5 แผน ดังนี้
     1. Bring digitization to support Digital Trade
ICC 
     สำนักงานใหญ่ได้ร่วมมือกับองค์กรนานาชาติและกลุ่มการค้าต่างๆ ในการผลักดันมาตราการต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่การทำ Digitization ทั้งด้านกฎหมาย ด้านกฎระเบียบ การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาการเชื่อมโยงของข้อมูลผ่าน API ตัวอย่างที่สำคัญคือการกำหนดมาตรฐานของใบตราส่งหรือ Bill of Lading ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญในการพัฒนา Electronic Bill of Lading ทำให้บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือทั้งหลาย เริ่มพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ eb/l ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกและจะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่การทำ digitization เอกสารไปสู่ Digital Trade Transaction อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณกระดาษมากถึง 4 พันล้านฉบับต่อปี นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดความคล่องตัวในกระบวนการที่ใช้เวลามากกว่า 15-45 วัน ในอนาคตการเรียกเก็บเงินจะลดลงเหลือเพียง 1 วัน และจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า payment obligation/undertaking ที่สามารถเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินเพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้อีกด้วย
     นอกจากนี้ ICC Thailand, ICC Digital Standard Initiative (DSI) working group และ สำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ร่วมกันทำโครงการความร่วมมือในการพัฒนา National Digital Trade Platform เพื่อให้เป็น platform หลักของประเทศ สำหรับ Digital Trade Transaction และยังเป็น gateway ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลการค้าทั้งภาคเอกชนและภาครัฐไว้ในที่เดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การทำธุรกรรม digital ในอนาคตต่อไป

     2. สนับสนุนภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ของสถาบันการเงิน
     ICC Thailand เล็งเห็นว่าการผลักดันให้สถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ให้แก่ธุรกิจรายใหญ่ ที่การดำเนินธุรกิจมีโอกาสก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงนั้นมีความสำคัญ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจตระหนักและเกิดแรงจูงใจในการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และยังทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่อยู่ใน Supply Chain ของธุรกิจขนาดใหญ่ หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกัน  ซึ่ง ICC Thailand เห็นว่า หากสถาบันการเงินผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียวให้เป็นรูปธรรม จะจูงใจให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามเงื่อนไข ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากภาคธุรกิจจะได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงแล้ว จะเป็นการสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปตลาดในต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญและมีการกำหนดนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
     3. ส่งเสริมและสนับสนับสนุนการใช้อนุญาโตตุลาการในประเทศไทย  
     หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) มุ่งที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศใช้กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ แก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งจะสนับสนุนการค้าและสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในประเทศไทย และสร้างความมั่นใจให้แก่นักธุรกิจต่างชาติที่มีหุ้นส่วน คู่ค้าพาณิชย์ในประเทศไทย 
     เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด มีข้อพิพาททางการค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของภาคธุรกิจ กระบวนการอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยของหอการค้านานาชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้า เนื่องจากอนุญาโตตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีความเชี่ยวชาญและทราบถึงธรรมชาติของธุรกิจที่เกิดข้อพิพาท ซึ่งทำให้ทราบว่าโควิดได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรและมีผลต่อการปฏิบัติตามสัญญาของคู่สัญญาอย่างไร ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนับสนุนการใช้อนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ สำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ
     4. ยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของผู้ประกอบการให้ทัดเทียมระดับสากล
     หนึ่งในภารกิจหลักที่สำคัญของ ICC Thailand คือ การพัฒนาศักยภาพและยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของผู้ประกอบการที่สนใจในการทำการค้าระหว่างประเทศ ให้มีความสามารถทัดเทียมระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ “กฎ” การค้าระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม เช่น FOB CIF หรือ CFR ฯลฯ โดยทาง ICC Thailand ได้จัดการสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ในเรื่องการใช้กฎ Incoterms® 2020 อย่างถูกต้อง, กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อสิทธิทางภาษี และเรื่องความรับผิดชอบในเหตุสุดวิสัย รวมทั้งให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจถึงสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง ICC สำนักงานใหญ่ได้จัดทำสัญญามาตรฐานในการทำการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ขึ้น เพื่อผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย 
     5. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์
     ICC Thailand ได้ทำงานร่วมกับ ICC สำนักงานใหญ่ ในประเด็นด้านความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตและความรับผิดชอบต่อสังคม (Cybersecurity and Responsibility) ที่ต้องมีในโลกของไซเบอร์ 
โดยคณะทำงานด้าน Cybersecurity and Responsibility ของ ICC สำนักงานใหญ่ ได้จัดทำคู่มือความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากภัยคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะทำการเผยแพร่คู่มือฯ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งจะเป็นข้อมูลและแนวทางปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจ
     นอกจากนี้ ICC Thailand  ยังได้เข้าร่วมในโครงการหลักการธุรกิจด้านปัญญาประดิษฐ์ (Global Business Principles on Artificial Intelligence) ของ ICC สำนักงานใหญ่ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาหลักการที่จะช่วยภาคธุรกิจในการสร้างและส่งเสริมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้มีนวัตกรรมใหม่ที่น่าเชื่อถือ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และต่อมนุษย์ แม้ว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีเอนกประสงค์ที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาให้ธุรกิจก็ตาม