นักวิจัย วช. ลงพื้นที่ เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก ที่ยะลา หาฮอตสปอตการระบาดโควิด-19 ในชุมชน ล่วงหน้า 2 สัปดาห์
นักวิจัย วช. ลงพื้นที่ เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก ที่ยะลา หาฮอตสปอตการระบาดโควิด-19 ในชุมชน ล่วงหน้า 2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ลงพื้นที่ จังหวัดยะลา เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก เพื่อทำแผนที่ความเสี่ยงคาดการณ์ผู้ติดเชื้อระดับชุมชนในเทศบาลนครยะลา ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ สำหรับการดำเนินการเชิงรุกตอบโต้การแพร่ระบาดของโควิด-19
ประเทศไทยยังคงอยูในระลอกที่ 4 ของการระบาดของเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธ์เดลต้า ที่ทำให้โควิด-19 ระลอกนี้หนักหน่วงและรุนแรง แม้ผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลงต่ำกว่า 10,000 รายต่อวันแล้ว แต่ในหลายจังหวัดสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ จำนวนผู้ป่วยไม่ลดลง แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินหลายมาตรการเชิงรุกในการตรวจหาผู้ติดเชื้อรายบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดประเทศและเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ และอาจเกิดการระบาดระลอกที่ 5 หากไม่มีการเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ก่อนที่จะเกิดการติดเชื้อลามจากระดับบุคคลไปยังระดับชุมชน
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า นวัตกรรมการตรวจซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครกของชุมชนเป็นเครื่องมือพิเศษในการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระดับชุมชน รวมถึงสามารถใช้เทคนิคนี้ชี้เป้าฮอตสปอตของโควิด-19 ในระดับอาคาร เพื่อการดำเนินมาตรการตอบโต้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้อีกด้วย โดยหลักการสำคัญคือผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 แม้ยังไม่แสดงอาการก็จะหลั่งเชื้อโควิดปริมาณมากออกมาทางอุจจาระ-ปัสสาวะ ทำให้สามารถตรวจเจอการระบาดในระดับชุมชน หรืออาคารได้โดยการตรวจหากซากเชื้อในน้ำเสียโสโครกรวมของชุมชนหรืออาคารดังกล่าว ทำให้การตรวจ 1 ตัวอย่างน้ำเสียแทนการเฝ้าระวังการติดเชื้อของคนทั้งอาคาร หรือ ทั้งชุมชน ซึ่งจากการใช้งานของคณะวิจัยนี้ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ นครสวรรค์ พิษณุโลก ตาก และเชียงใหม่ โดยประสานความร่วมมือกับเทศบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมอนามัยและศูนย์อนามัย พบว่า เทคนิคนี้สามารถระบุชุมชนหรืออาคารที่มีการติดเชื้อได้ไวกว่าการตรวจรายบุคคลประมาณ 2 สัปดาห์โดยเฉลี่ย
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยได้พัฒนาการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครกโดยใช้เทคนิคทางเลือก LAMP Assay ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการตรวจด้วยเทคนิค RT-qPCR ประมาณ 5 เท่า ซึ่งเทคนิค LAMP เคยนำมาใช้ตรวจตัวอย่างทางจมูกและปากมาแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาใช้กับเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียมาก่อน นักวิจัยจึงได้เลือกใช้เทคนิคดังกล่าวร่วมกับเทคนิค RT-qPCR เพื่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เชิงรุก จากตัวอย่างน้ำเสียในสถานที่สุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ตลาด สนามบิน และส่วนต่างๆของเทศบาลใน 4 จังหวัดนำร่อง ก่อนจะนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในเขตเทศบาลนครยะลา เพื่อนำข้อมูลไปทำเป็นแผนที่ความเสี่ยงคาดการณ์ผู้ติดเชื้อระดับชุมชน และเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนการระบาด โดยการประสานงานกับเทศบาลนครยะลา
โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำเสียชุมชนในครั้งนี้ รวมพื้นที่ประมาณ 40 ตำแหน่ง โดยการแบ่งเป็น เทศบาลนครยะลา 29 พื้นที่ย่อย และอีก 11 จุดครอบคลุมตลาดและอาคารสาธารณะที่ต้องสงสัย เพื่อชี้บริเวณของชุมชนที่เป็นฮอตสปอตการระบาดของโควิด-19 และนำตัวอย่างน้ำกลับไปตรวจวิเคราะห์ซากเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วย RT-qPCR และ LAMP เพื่อคำนวณร้อยละของผู้ติดเชื้อในชุมชน และรายงานผลเป็นแผนที่ระบุความเสี่ยง คาดการณ์การติดเชื้อล่วงหน้าต่อไป โดยเทศบาลนครยะลาจะนำผลการวิจัยนี้ไปวางมาตรการเชิงรุก
เพื่อลดการระบาดในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดหวังว่าการตรวจหาสารพันธุกรรม¬ของไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโดยใช้เทคนิค LAMP ร่วมกับ RT-qPCR จะ เป็นต้นแบบการสืบสวน และแจ้งเตือนล่วงหน้าหากพบสารพันธุกรรมของเชื้อ ทั้งนี้คณะวิจัยกำลังจัดทำฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สำหรับสืบสวนการติดเชื้อในระดับชุมชนด้วยการตรวจซากเชื้อในน้ำเสีย คาดหวังจะได้จดสิทธิบัตรนวัตกรรมเป็นครั้งแรกของไทย หากการตรวจหามีประสิทธิภาพสูงขึ้น มหาวิทยาลัยนเรศวรจะเป็นศูนย์กลางในการใช้และถ่ายทอดเทคนิคการตรวจหาเชื้อในน้ำเสียด้วย LAMP ร่วมกับ RT-qPCR ต่อไป
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาและรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ถือเป็นวาระแห่งชาติ วช.ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ (PMU) และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง วช. และหน่วยงานประชาคมวิจัยได้เตรียมพร้อมนวัตกรรมทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อการรองรับการระบาดในระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโดยใช้เทคนิคผสมผสาน ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นับเป็นผลงานที่มีความก้าวหน้าและมีประโยชน์ต่อประเทศ สามารถลดต้นทุนการจัดการ เพื่อให้ชุมชนและสังคม สามารถเข้าถึงข้อมูล และการเตือนภัยล่วงหน้าจากการโรคอุบัติใหม่ได้
ด้าน นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดยะลา ภายหลังที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ทางจังหวัดยังมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้ทำการได้ออกคำสั่งให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าจังหวัดยะลาทั้ง 11 ด่าน ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แล้วนั้น
ล่าสุดสำหรับโครงการปฏิบัติการการเก็บตัวอย่างน้ำเสียโสโครก ทางจังหวัดยะลาได้ประสานงานกับผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำนวัตกรรมการตรวจซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครกของชุมชนเป็นเครื่องมือพิเศษในการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระดับชุมชน เพื่อจะนำผลการวิจัยนี้ไปวางมาตรการเชิงรุก
“สำหรับพื้นที่ประมาณ 40 ตำแหน่ง เทศบาลนครยะลา 29 พื้นที่ย่อย และอีก 11 จุดครอบคลุมตลาดและอาคารสาธารณะ ทางจังหวัดจะขยายเพิ่มเติมไปถึงโรงพยาบาลสนามอีกด้วย” รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว