“เอนก” ลุยพื้นที่ภูเก็ต เยี่ยม "โครงการทะเลไทยไร้ขยะ" เร่งงานวิจัยสู่การปฏิบัติ ดึงเอกชน-คนพื้นที่มีส่วนร่วม เฮ! U2T สร้างงานสร้างรายได้ ชาวบ้านปลื้ม!
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 64 ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยม "โครงการทะเลไทยไร้ขยะ" ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่ดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการที่ประสบผลสำเร็จในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ : แปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลิตภัณฑ์สารสกัดโปรตีน และผลิตภัณฑ์สารสกัดคอลลาเจนจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุก และผลิตภัณฑ์กะเพราแปรรูป ภายใต้แผนงาน “ครัวไทยสู่ตลาดโลก” โดยการสนับสนุนทุนจาก วช. และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่บริษัท เมธีภูเก็ต จำกัด , อินทรฟาร์ม และ ร้าน Blue Elephant Phuket
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ตนมาเยี่ยมชมอุทยานสิรินาถในวันนี้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการทะเลไทยไร้ขยะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ซึ่งเป็นการเก็บขยะพลาสติกในทะเลและรอบทะเล โดยใช้โดรนสำรวจขยะทะเลและชายหาด เรือเก็บขยะทะเลแบบไร้คนขับ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนการใช้พลาสติก โดยปัจจุบันงานวิจัยได้ดำเนินมาถึงขั้นมีความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงท้องถิ่นใน 12 ชุมชนแล้ว และกำลังจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ถือเป็นการนำงานวิจัยลงสู่การปฏิบัติได้จริง เพื่อให้คนพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
รมว.อว.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโครงการ U2T ตนขอชื่นชมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตที่นำเอางานวิจัยและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยชาวบ้าน เอาบัณฑิต นักศึกษา และมหาวิทยาลัยไปทำงานกับชุมชนอย่างเป็นระบบ ทำให้ชาวบ้านพึงพอใจมาก เพราะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ และยังเรียกร้องให้มีโครงการนี้ต่อในปีต่อไป ซึ่งตนมองว่าชาวบ้านนี่แหละคือตัวบ่งชี้และพิสูจน์ได้ว่าโครงการนี้สามารถทำประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด พร้อมกันนี้ ตนได้สั่งการให้นำงานวิจัยของ อว. มาช่วยเกษตรกรยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น งานวิจัยของ วว. ทำสารสกัดมูลค่าสูงจากพืชผลการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และมีความมั่นคงทางรายได้มากกว่าการพึ่งพาการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรแบบทั่วไปและการท่องเที่ยวเท่านั้น
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช. ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย “แผนงานวิจัยท้าทายไทย ทะเลไทยไร้ขยะ” “การเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้และของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุกสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม” และ “แผนงานวิจัยครัวไทยสู่ตลาดโลก” พบว่า ได้ถ่ายทอดสู่การนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดเชิงพาณิชย์แล้ว
ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ จะช่วยให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการขยายผลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุกในพื้นที่ รวมทั้งลดปริมาณของเหลือทิ้งทางการเกษตร คือ เปลือกหอยมุก ช่วยสร้างโอกาสการในการต่อยอดงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผักสมุนไพรที่ใช้ในอาหารไทยชนิดอื่น ๆ อีกทั้งประชาชนทั่วไป ยังเกิดการรับรู้ และตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเล”
ดร.สุพนิดา วินิจฉัย จากมหาวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทราบดีว่า ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีwaste จากการทำประมงและเกษตรกรรมค่อนข้างมากในแต่ละวัน โดยได้ทำการศึกษาและวิจัยที่อินทรฟาร์ม ซึ่งมีหอยมุกหลายสายพันธ์ุ จึงได้คิดค้นที่จะเพิ่มมูลค่าและต่ออดเศษวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ โดยการนำเปลือกหอยมุกมาสกัดเป็นโปรตีน เนื่องจากมีแคลเซียมอยู่เยอะ อีกทั้งยังมีแคลเซียมคาร์โบเนต และนำเมือกจากหอยมุกมาสกัดเป็นคอลลาเจน เน้นการสกัดที่ง่ายต่อการดำเนินงานของฟาร์มหอย และเกษตร ต่อไปตั้งใจจะสกัดเป็นแคลเซียมคาร์โบเนตแบบนาโนบริสุทธิ์ เป็น Nano innovation มุ่งหวังไปสู่การเป็น Industrial ขนาดเล็ก ที่จำได้นำสารสกัดจากหอยมุกที่มีความเข้มข้นสูงกว่าต่างประเทศ มาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอของประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถเป็นสินค้าส่งออก แข่งขันได้
ขณะนี้ทั้งสองผลิตผลการวิจัย ได้รับอนุสิทธิบัตร การสกัดโปรตีน และการสกัดคอลลาเจน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักวิจัยได้ค้นพบหอยมุกพันธุ์ใหม่ ที่คาดว่าจะเป็นพันธ์ุใหม่ของโลก ตอนนี้อยู่ในขณะศึกษาข้อมูล คาดว่าถ้าเป็นพันธ์ุใหม่และไทยได้รับการขึ้นทะเบียนสายพันธ์ุ จะเป็นการสนับสนุนด้าน GI ได้
รมว.อว.กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยิ่ง เป็นการส่งเสริมให้เกษตรหันมาทำการเกษตรเช่นนี้มากขึ้น ด้วยภูมิอากาศของประเทศไทยที่เหมาะสมกับการเลี้ยงหอยมุก จึงสามารถส่งผลผลิตได้ตลอดปี เป็นข้อได้เปรียบของเราในการแข่งขันในตลาดโลกได้