อว.เร่ง “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” รับมือเปิดประเทศ หวังผลต่อยอดเชิงพาณิชย์
อว.มอบ “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” รับมือเปิดประเทศ หวังผลต่อยอดเชิงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานส่งมอบ “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19” ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประเภทรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ,และดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีนางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และพลโทพิเศษ ศิริเกษม รองเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บัวรอง ลิ่วเฉลิมวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (ผู้แทนสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904) เป็นผู้รับมอบฯ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ขอชื่นชมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทยที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้คนไทยได้อยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพร้อมรับการเปิดประเทศ ที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤติโควิด คนไทยปรับตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราสามารถเร่งผลิตภาพได้สูงขึ้นมาก ผลิตวัคซีนได้ทันกับประเทศแนวหน้าของโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่เราสามารถผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกัน ยังผลิตห้องความดันลบ ชุด PPE หน้ากากความดันบวก ฯลฯ ที่ราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า
“นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” ก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งฝีมือคนไทยจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา หลังจากนี้ ตนหวังว่าจะได้เห็นการนำนวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์นี้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนนำไปผลิตและจำหน่ายในท้องตลาด และสำหรับนักวิจัย ขอแจ้งข่าวดีว่า ขณะนี้ อว. เปิดช่องให้นักวิจัยหรืออาจารย์สามารถนำผลงานประดิษฐกรรมหรือนวัตกรรมเหล่านี้มาเสนอขอรับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องทำเป็นผลงานทางวิชาการหรือตำรา เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง
รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 จาก วช. การใช้งานของนวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน สามารถเลือกใช้งานได้ถึง 3 ระบบจากการสั่งงานผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาทิ การอบฆ่าเชื้อด้วยก๊าซโอโซน การอบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV- และการอบฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยควบคุมการทำงานด้วยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวร่วมกับระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง จะช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมการทำงานในแต่ละระบบได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้ใช้งาน ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่นำไปฆ่าเชื้อด้วยตนเองได้
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมได้ให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม แก่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ในการพัฒนานวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19สำหรับการฆ่าเชื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลขนาดเล็กทั่วไป เช่น กุญแจ แว่นตา นาฬิกา รวมถึงเหรียญและธนบัตร ซึ่งสามารถลดโอกาสการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อลงได้ซึ่งเป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้