ADS


Breaking News

วช. เสริม นักวิจัย มก. ส่งแบบจำลองฯ ประเมินการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง พื้นที่ภาคกลาง และ EEC

วช. หนุน นักวิจัย มก. พัฒนาแบบจำลองฯ ประเมินการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง พื้นที่ภาคกลาง และ EEC
     นักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยการสนับสนุนทุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประเมินสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง 64/65 ในพื้นที่ภาคกลาง และ EEC โดยใช้แบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า และการบริหารจัดการน้ำโดยระบบสารสนเทศต้นแบบ ร่วมกับผลการพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 6 เดือน ชี้ปริมาณน้ำต้นทุนยังมีจำกัด การขาดแคลนน้ำพื้นที่ EEC ช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ มีโอกาสน้อย
     แม้ว่าในช่วงเวลานี้พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำบางแห่ง ยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันการวางแผนจัดสรรน้ำและการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งได้เริ่มขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 – 30 เม.ย. 2565 กรมชลประทานได้คาดการณ์แผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 64/65 ให้สอดคล้องต่อปริมาณน้ำต้นทุน คำนึงถึงกิจกรรมการใช้น้ำทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ น้ำอุปโภค-บริโภค  รักษาระบบนิเวศ  อุตสาหกรรม และการเกษตร กำหนดให้มีแผนการจัดสรรน้ำรวมทุกกิจกรรม ประมาณ 5,700 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2564 อยู่ที่ 7,774 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมวางแผนผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระบบนิเวศในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน
     ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยถึง ผลการศึกษาภายใต้กิจกรรม CO-RUN แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า การคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าผิวดินที่เกิดขึ้นในพื้นที่ราบภาคกลาง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จนถึง จ. นครสวรรค์ บริเวณสถานีตรวจวัดน้ำท่า C.2 โดยใช้แบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่าและการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับผลการพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 6 เดือนด้วยแบบจำลอง WRF-ROM (CFS2V) ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564-เม.ย. 2565 พบว่า ปริมาณฝนสะสมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีค่าประมาณ 5-30 มม.เท่านั้น นอกจากนี้พบว่า ปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นบริเวณสถานีตรวจวัดน้ำท่า C.2 ในช่วงเดือน ธ.ค. 2564-เม.ย. 2565 มีปริมาณเพียง 610 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณความต้องการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง โดยการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะต้องอาศัยปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนข้างต้นเป็นหลัก และต้องควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการปลูกข้าวนาปรังช่วงฤดูแล้ง และช่วงต้นฤดูฝน (เดือน พ.ค. 65-ก.ค. 65) ตามที่กรมชลประทานได้คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแผนการจัดสรรน้ำ จำนวน 2.8 ล้านไร่ ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 1,970 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ของการใช้น้ำทั้งหมด เห็นได้ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนยังมีอย่างจำกัด
     นักวิจัย กล่าวต่อไปว่า จากผลการศึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ภายใต้แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ ๒ ขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศต้นแบบ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในเขต EEC และภาคตะวันออก ซึ่งมีรูปแบบการเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายการผันน้ำ ทั้งในรูปแบบเรียลไทม์ และพยากรณ์ช่วงระยะเวลาต่าง ๆ โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 64 ปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ จ. ระยอง และ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำใช้การรวม 823 ล้านลูกบาศก์เมตร และกำหนดให้มีการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ประมาณ 590 ล้านลูกบาศก์เมตรตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง โดยปริมาณฝนสะสมจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 6 เดือน มีค่าประมาณ 80 มม. หรือคิดเป็นเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยที่ช่วงระยะเวลาเดียวกัน จากการจำลองการบริหารจัดการน้ำโดยระบบสารสนเทศต้นแบบฯ จึงคาดการณ์ได้ว่า การขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ มีโอกาสน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างข้างต้นมีปริมาณค่อนข้างมาก สถานการณ์การใช้น้ำดังกล่าว ยังจำเป็นต้องมีการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำร่วมอยู่ แต่เป็นเพียงการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรีเป็นหลัก  ระบบสารสนเทศต้นแบบฯ ดังกล่าว สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศเพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขต EEC ได้