Bangkok Sandbox ผนึกพลังรับเปิดประเทศ
กรุงเทพฯ - หอการค้า - ททท. ชูโมเดล Bangkok Sandbox
ขานรับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ยืนยันการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางทางอากาศจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป หอการค้าไทยและกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมหารือเพื่อเตรียมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้แนวทาง Bangkok Sandbox ซึ่งภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมมาตรฐาน SHA+ พร้อมรณรงค์มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ สามารถเปิดดำเนินกิจการได้อย่างปลอดภัย ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับและบริหารจัดการได้ โดยที่ผ่านมาชาวกรุงเทพ ฯ ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วร้อยละ 100 และเข็มที่ 2 คิดเป็น ร้อยละ 69 .77 ซึ่งคิดว่าภาย 1 – 2 วันนี้น่าจะครบ ร้อยละ 70 ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ (จากข้อมูลของ กทม. ณ วันที่ 17 ตุลาคมนี้) ซึ่งถือว่ามีความพร้อมที่จะเปิดเมือง ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อเดินหน้าเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล โดยมีประเด็นหารือสำคัญ ทั้งแนวทางการดำเนินการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร Bangkok Sandbox ทั้งการสื่อสารให้นักท่องเที่ยว นักเดินทาง ซึ่งบ่ายวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ทาง ศบค จะสรุปแนวทางและประเทศความเสี่ยงต่ำ ที่จะเปิดรับในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ นอกจากนั้นยังได้หารือถึงแนวทางการพิจารณาประเมินสถานประกอบการให้ได้รับการประเมินมาตรฐาน SHA+ ที่จะดำเนินการตามแนวทางลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อต่างๆ ที่ทาง ททท. ได้วางมาตรฐานไว้ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขที่ได้ปรับ มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ทั้งในด้านการจัดพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย พนักงานและบุคลากรได้รับการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการสร้างความปลอดภัยและการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข นอกจากนั้นยังได้มีการจัดทำแผนรับรองหากมีการกลับมาแพร่ระบาดรวมถึง การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางการทำงาน ที่ประชุมได้มี การจัดทำ Standard Operation Procedure (SOP) แบ่งออกเป็นมาตรฐาน 11 ด้าน ประกอบด้วย มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานในการรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ/ดอนเมือง มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางจากสนามบินเข้าที่พักโดยไม่แวะพักระหว่างทาง มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางถึงโรงแรม ที่พัก หรือโฮมสเตย์ มาตรฐานการท่องเที่ยวทางน้ำและการเดินเรือ มาตรฐานสำหรับมัคคุเทศก์และผู้ช่วยมัคคุเทศก์ มาตรฐานการจัดการของเสียและขยะต่าง ๆ มาตรฐานสำหรับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ มาตรฐานสำหรับการบริการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ มาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวชุมชน มาตรฐานการเดินทางท่องเที่ยวภายในกรุงเทพมหานคร และ มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA/SHA+ ซึ่งหอการค้าไทย จะทำการสื่อสารไปยังหอการค้าจังหวัดประเทศในการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนจังหวัดอื่นๆ และไปทำงานกับหน่วยงานภาครัฐของทุกจังหวัด
“จากรูปแบบการดำเนินงานและบทเรียนของ Phuket Sand Box ทำให้เราเห็นถึงโอกาสที่จะนำมาปรับใช้ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยรองรับการเปิดประเทศ วันนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า Bangkok Sand Box พร้อมแล้วที่จะเป็นอีกพื้นที่นำร่องในการเปิดรับการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้คนกรุงเทพฯ ได้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด โดยหอการค้าไทยและเครือข่ายเอกชนพร้อมร่วมมือกับกรุงเทพมหานครอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมาเราได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนและการสนับสนุนการกระจายวัคซีนไปสู่ชาวกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ดังนั้นภารกิจ Bangkok Sand Box จึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะพลิกฟื้นกรุงเทพฯ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ยังเสนอให้มีการขยายผลโครงการ “ฮักไทย (HUG THAIS)” ที่ได้มีการนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต มาขยายผลกับกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ “ฮักไทย ฮักกรุงเทพ (HUG THAIS HUG BANGKOK)” ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยทำให้เกิดบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยในครึ่งหลังของปี 64 ภายใต้การส่งเสริมการกิน – เที่ยว – ใช้ของไทย โดยจะร่วมกับ ททท. ผู้ประกอบการร้านค้า และบริการในกรุงเทพ จัดโปรโมชั่นพิเศษขานรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
หลังจากนี้ หอการค้าไทย กรุงเทพมหานคร ททท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตามความคืบหน้าของแผนงานต่าง ๆ ที่ได้หารือกันเป็นระยะ และจะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมของจุดต่าง ๆ เช่น สนามบิน โรงแรม หรือ โรงพยาบาล เพื่อซักซ้อมและแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ โดยสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับประชาชน สถานประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมความพร้อมเพื่อให้ปฏิบัติและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันต่อไป