ADS


Breaking News

คิดนอกกรอบ! วช.ปรับมุมมองหนุนงานวิจัย นวัตกรรมเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง

วช.คิดนอกกรอบปรับมุมมองดึงงานวิจัย นวัตกรรมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
เปลี่ยนวัยเกษียณเป็นพลังแผ่นดิน
     อีก 2 เดือนเศษ สังคมไทยจะเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” นั่นหมายถึงตั้งแต่ต้นปี 2565 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงขึ้นร้อยละ 20 หรือประมาณ 14 ล้านคนจากจำนวนประชากร ประมาณ 66 ล้านคน
     และในปี 2576 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” โดยสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะสูงถึงร้อยละ 28 และประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20
     ขณะที่ประชากรที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ก็กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุปรากฏการณ์ “อัตราการเกิดที่ลดลงและผู้คนมีอายุยาวขึ้น” เกิดขึ้นทั่วโลก กำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การเข้าสู่สังคมสูงอายุนั้น จะเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะรัฐบาลมีภาระจะต้องดูแลผู้สูงอายุ มากขึ้น ขณะเดียวกันความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลงเมื่อประชากรในวัยทำงานลดลงไป
     แต่เรื่องผู้สูงอายุไม่ใช่แค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ต้องมาคำนวณ เนื่องจากมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
     ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้สังคมไทยมีความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่กำลังคืบคลานเข้ามาและนั่นเป็นเสมือนโจทย์หรือการบ้านข้อใหญ่ของรัฐบาล

     “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ประชากรโลกกำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2563 โลกของเรามีประชากรรวม 7,795 ล้านคน มี “ผู้สูงอายุ” ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1,050 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
     สำหรับประชากรสูงอายุในประเทศไทย มี 12 ล้านคน จากประชากรรวม 66.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด โครงสร้างอายุของประชากรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน สังคมจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะใหม่ๆ เพื่อการประกอบอาชีพ มีอุปกรณ์เทคโนโลยีในการช่วยเหลือ มีทัศนคติที่ดีต่อกัน เสริมพลังและสร้างคุณค่ากันระหว่างคนต่างรุ่น โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวและมองว่างานวิจัยและนวัตกรรมจะมีส่วนช่วยทั้งในด้านผู้สูงอายุโดยตรงและผู้ที่ยังไม่สูงอายุ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ
     ทั้งนี้ ปัจจุบัน วช.กำลังดำเนินโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” นำผู้สูงอายุเกิน 60 ปีกว่า 6 หมื่นคนมาเข้าโครงการในปี 2564-2565 เพราะคนอายุเกิน 60 ปีหลายคนยังมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ มีทักษะที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุประกอบอาชีพได้ตามทักษะรวมทั้ง พัฒนาทักษะให้ผู้สูงอายุตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและมีเป้าหมายจะขยายผู้สูงอายุให้เข้าโครงการในปี 2566 จำนวน 1 แสนคน
     “นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ เช่น นวัตกรรมด้านการแพทย์ Telemedicine ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยได้แบบ Real time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO conference เพื่อแลก เปลี่ยนข้อมูลในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือนวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงไฟฟ้าพร้อมแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือเพื่อควบคุมเตียงแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุติดเตียงได้รับการดูแลตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกในการป้องกันการเกิดแผลกดทับที่ต้องพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงและยังสามารถลดการทำงานของผู้ดูแล ผู้ป่วยได้ หรือนวัตกรรมด้านทันตกรรมผลิตภัณฑ์กลาสเซรามิกชนิดไมกาที่มีความทนทานและมีสีใกล้เคียงกับฟันจริง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยสามารถเข้ารับการรักษาได้ ยังมีนวัตกรรมที่ช่วยด้านการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ อย่างเก้าอี้ย้ายตัวจากเตียงเพื่อการขับถ่ายและอาบน้ำ และอุปกรณ์ย้ายตัวจากรถยนต์สู่รถเข็นและนวัตกรรมที่ช่วยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ช่วยเหลือตนเองได้ เช่น มอเตอร์ ไซค์สามล้อไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โดยใช้พลังงานไฟฟ้า ในการขับเคลื่อน สามารถชาร์จไฟได้ที่บ้านหรือสถานีชาร์จไฟฟ้า ถือเป็นการสร้างโอกาส ให้ผู้สูงอายุและผู้พิการได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สามารถเดินทางได้ตามความต้องการ”
     ดร.วิภารัตน์ ระบุ ที่สำคัญ วช.ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ อาทิ การเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัย เช่น นวัตกรรมเพื่อการออมและการลงทุน การเตรียมความพร้อมด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม เช่นนวัตกรรม Smart Community ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ และการปรับปรุงบ้านให้กับผู้สูงอายุ สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และภูมิสังคม Universal Design ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ยังคงมีสุขภาพที่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัย เป็นต้น
     “ต้องคิดนอกกรอบและเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่เห็นคนสูงวัยเป็นภาระของสังคม โดยคิดใหม่ว่า คนสูงวัยคือธรรมชาติ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้แข็งแรงอายุยืนยาวได้ พร้อมเปลี่ยนผู้สูงวัยให้เป็นพลังของแผ่นดินในการสร้างเศรษฐกิจมีรายได้ มีสุขภาพดี” ดร.วิภารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
     “ทีมข่าวอุดมศึกษา” เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า “ผู้สูงวัย” ไม่ใช่ภาระ เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งเท่านั้น แม้คนกลุ่มนี้จะมีกำลังวังชาที่ถดถอย แต่ก็มีประสบการณ์ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ไม่น้อยกว่าคนรุ่นใหม่ ขณะที่ปัจจุบัน โลกนี้คือโลกของนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและช่วยเหลือตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้และนั่นหมายถึงการเปลี่ยนผ่านจากวัยเกษียณเป็นพลังแผ่นดินที่มั่นคงและมีความสุขได้ตามวัย