ADS


Breaking News

วช. เสริม มข. บูรณาการการเลี้ยงแพะในถิ่นอีสาน สร้างเครือข่ายเกษตรกรเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก

วช. หนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยกระดับการเลี้ยงแพะในภาคอีสาน สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก
     นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 อัตราการว่างงานในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นทวีคูณ กระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตประจำวัน กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจลดลงอย่างรุนแรง การว่างงานเพิ่มขึ้น และรายได้จากการทำงานลดลง แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น แต่จากอุปสรรคในการพัฒนาจึงทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากยังไม่บรรลุเป้าหมาย  
     ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า จากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งผลให้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในชนบท ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในสภาพที่ไม่เข้มแข็งมากนัก เพราะขาดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่สามารถรองรับแรงงานที่อพยพคืนถิ่น และตอบโจทย์ในการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนในการประกอบอาชีพได้ จำเป็นต้องให้การสนับสนุนอย่างครบวงจร 
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นความสำคัญของการวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในระยะยาว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การประยุกต์เทคโนโลยีชีวภาพและการสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อผลิตพ่อแม่พันธุ์แพะในประเทศไทย” แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมี รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ
     รศ.ดร.ไชยณรงค์  นาวานุเคราะห์ เปิดเผยว่า ในบรรดาปศุสัตว์ที่สามารถขับเคลื่อนและสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานรากได้ในระยะเวลารวดเร็วคือการเลี้ยงแพะ เพราะใช้ระยะเวลาเลี้ยงเพียง 1 ปี  ก็ให้ผลตอบแทนได้ สามารถขายได้ทั้งในรูปแบบเนื้อชำแหละหรือขายทั้งตัว  แต่เนื่องจากผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีข้อจำกัดทั้งเงินทุนและความรู้  การเลี้ยงแพะจึงยังคงอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม คือ เลี้ยงแบบปล่อยฝูง ปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ โครงการ ฯ จึงเน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยเพื่อยกระดับและมาตรฐานในการเลี้ยงแพะให้เป็นฟาร์มปลอดโรคที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ การพัฒนาการผลิตพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีคุณภาพด้วยวิธีการผสมเทียม การจัดการดูแลแพะเพื่อเพิ่มอัตราการติดลูก  การเพิ่มมูลค่าเนื้อแพะด้วยการแปรรูปและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร  โดยการอบรมให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง ครอบคลุมในเรื่องดังต่อไปนี้  (1) เทคโนโลยีชีวภาพด้านชีววิทยาการสืบพันธุ์ในแพะแม่พันธุ์  (2) เทคโนโลยีชีวภาพการทำงานของรังไข่ มดลูก รก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์แม่พันธุ์แพะ และ (3) เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเพิ่มคุณภาพน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อการผสมเทียมและธนาคารอสุจิแพะพ่อพันธุ์ 
     ผลจากการดำเนินงานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา จากการใช้น้ำเชื้อสดและน้ำเชื้อแช่แข็งผสมเทียมแพะ เสริมด้วยอาหารสมุนไพรที่สกัดจากว่านชักมดลูก ช่วยให้แพะตั้งท้อง คลอดลูกง่าย มดลูกเข้าอู่เร็ว สามารถเพิ่มอัตราการติดลูกแพะของเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากแต่เกษตรกรก็พึงพอใจเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตสัตว์ได้ถึง 40 เปอร์เซนต์  ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม  สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จากภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ จำนวนกว่า 200 คน จะให้การสนับสนุนเพื่อสร้างเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีชื่อว่า “โครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือ (สตารท์อัพ) เพื่อผลิตแพะเชิงพาณิชย์” ซึ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ตามความสนใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ คือ กลุ่มเกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้การผสมเทียมแทนการผสมพันธุ์โดยพ่อพันธุ์แพะ เพื่อจำหน่ายพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์  ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐาน โดยยกระดับเป็น ฟาร์ม GFM ฟาร์มปลอดโรคบูลเซลล่า เกรด B และผลักดันให้มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และปัจจัยการผลิต รวมทั้งหมุนเวียนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์แพะในฝูงเดียวกัน 
     สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่สนใจด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  เช่น เนื้อ สเต็กแพะ ลูกชิ้น ไส้อั่ว แกงมัสหมั่นน่องแพะ  แจ่วฮ้อนเนื้อแพะ (สุกี้อีสาน) เกษตรกรในแต่ละกลุ่มจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านลงไปให้ความรู้และคำปรึกษา และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย จึงมีการจัดตั้งธนาคารน้ำเชื้อแพะขึ้นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งและการผสมเทียมแพะ การวิจัยพัฒนาคุณภาพน้ำเชื้อให้มีความแม่นยำในการผสมเทียมมากขึ้น เน้นการผลิตน้ำเชื้อแพะแช่แข็ง 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์บอร์ พันธุ์แองโกลนูเบียน และพันธุ์พื้นเมือง ขณะนี้ได้เปิดให้บริการเกษตรกรใน 2 รูปแบบ คือ 1) บริการผสมเทียม  โดยเปิดอบรมหลักสูตรการผสมเทียมเป็นแบบนอนดีกรี  คือมาเรียนแล้วเก็บหน่วยกิตสะสมเอาไว้  จนกระทั่งหน่วยกิตสะสมเพียงพอก็ขอรับปริญญาได้ หรือนำไปประกอบการขอสินเชื่อเพื่อเลี้ยงแพะจาก ธ.ก.ส. 2) จำหน่ายน้ำเชื้อแพะ เพื่อให้เกษตรกรนำไปผสมเทียมเอง แต่เนื่องจากเกษตรกรที่มีชำนาญการผสมเทียมแพะมีค่อนข้างน้อย จึงได้เปิดหลักสูตรอบรมการผสมเทียมให้เกษตรกรด้วย ขณะนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้นเพราะเพิ่งก่อตั้ง คาดว่าในระยะเวลา 3 ปี  จะสามารถให้บริการเกษตรกรได้เต็มรูปแบบ