ADS


Breaking News

วช. ซินโครตรอน มูลนิธิธรรมิกชน ใช้ “แสงซินโครตรอน” ผลิตอักษรเบรลล์ช่วยผู้พิการทางสายตา

วช. ซินโครตรอน มูลนิธิธรรมิกชน ใช้ “แสงซินโครตรอน”ผลิตอักษรเบรลล์”ช่วยผู้พิการสายตา
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมูลนิธิธรรมิกชน พัฒนาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ผลิตเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ เสริมสร้างการดำรงชีวิตของผู้พิการทางสายตา 
    ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ส่งเสริมสวัสดิการแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุในหลายภาคส่วน ภายใต้การนำชุดข้อมูลจากการวิจัยมาใช้สนับสนุน ที่ผ่านมา วช. และหน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมกันจดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบาย วางแผนการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการและผู้อายุให้ได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ขับเคลื่อนผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ลดภาระงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการและผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพได้ต่อไป
     ดร.รุ่งเรือง  พัฒนากุล สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตามากกว่า 2 แสนคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในสถาวะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และการระบาดของโควิด-19 จึงต้องใช้เครื่องมือสื่อสารเข้ามาช่วยดำรงชีวิตที่มีความเสี่ยง ไม่เพียงแค่การเดินทาง แต่ยังมีโอกาสในการรับเชื้อต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เครื่องมือในปัจจุบันนอกจากสมาร์ทโฟนที่ใช้เสียงในการสื่อสารแล้ว ยังมีเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ที่ใช้การรับส่งข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์มาแสดงเป็นข้อความอักษรเบรลล์ เพื่ออ่านผ่านการสัมผัสที่ปลายนิ้ว โดยอักษรเบรลล์ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักในการดำรงชีวิตของผู้พิการทางสายตา ไม่เพียงแค่ให้สามารถอ่านหนังสือหรือข้อมูลตามสถานที่ต่าง ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบันทึกองค์ความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต
     ดร.รุ่งเรือง กล่าวต่อไปว่า ผู้พิการทางสายตาส่วนมากมีฐานะยากจน ไม่สามารถซื้อเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ที่มีราคาหลายหมื่นบาทมาใช้งานได้ จึงเกิดเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน คณะวิจัยโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับสำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ วช. จึงได้เริ่มโครงการพัฒนาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับผู้พิการทางสายตาโดยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเข้ามาร่วมในการผลิตชิ้นส่วนและกลไกขนาดเล็กเพื่อผลิตเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ที่รองรับการส่งผ่านข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ โดยภายในเซลล์แสดงผลอักษรเบรลล์มีโครงสร้างขนาดเล็กระดับไมโครเมตรถึงมิลลิเมตรที่ถูกควบคุมด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้สามารถบังคับการเคลื่อนที่ของจุดแสดงผลอักษรเบรลล์ได้อย่างอิสระ โดยอักษรเบรลล์ 1 ตัวจะประกอบไปด้วย 6-8 จุดซึ่งในสภาวะปกติจุดทั้งหมดจะถูกซ่อนอยู่ภายใน แต่เมื่อได้รับข้อมูลจากหน่วยประมวลผลจะทำการแปลงข้อความเป็นรหัสเบรลล์เพื่อสั่งการให้จุดในแต่ละตำแหน่งเคลื่อนที่ขึ้นเพื่อแสดงข้อความและเคลื่อนที่ขึ้นใหม่อีกครั้งตามตำแหน่งของตัวอักษรเบรลล์ต่อไป ดังนั้นการอ่านข้อความด้วยเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์จึงสามารถทำได้อย่างไม่สิ้นสุด ในปัจจุบันต้นแบบเซลล์แสดงผลอักษรเบรลล์นี้มีแผนการพัฒนาให้นำมาเชื่อมต่อกันเป็นแถวอักษรเบรลล์มากกว่า 10 เซลล์ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาอ่านข้อความที่ยาวขึ้นและต่อเนื่องเหมือนอ่านบนหนังสือเบรลล์