ADS


Breaking News

สุดล้ำ! นักวิจัย ม.รังสิต พัฒนาระบบคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 64 จาก วช.

นักวิจัย ม.รังสิต เจ๋ง! 
คิดค้นระบบคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 
คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 64 จาก วช.
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 ให้กับระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีนโยบายที่จะส่งเสริมและเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและวงวิชาการเป็นส่วนรวม จึงได้จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในแต่ละสาขา วิชาการ เป็นประจำทุกปีโดยได้ทำการคัดเลือกนักวิจัยที่มีจริยธรรมและมีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการ มีผลงานวิจัยสร้างคุณประโยชน์ต่อวงวิชาการและประชาชน สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่น ในครั้งนี้ วช. ได้มอบรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สื่อจิตต์ เพ็ชร์ประสาน รองคณบดีกิตติคุณ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะ เนื่องจากเป็นนักวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ ในการนำระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     รองศาสตราจารย์ ดร.สื่อจิตต์ เพ็ชร์ประสาน รองคณบดีกิตติคุณ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันอัตราผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ส่งผลต่อความล่าช้าในการรักษาผู้ป่วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การติดเชื้อโควิด-19 กระจายตัวสู่ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิด
กับผู้ติดเชื้อ ทำให้เกิดการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแรงสำคัญในการรักษาผู้ป่วยจากเชื้อโควิด-19 ระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถช่วยบรรเทาภาระของแพทย์ โดยระบบประมวลผลจะวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยที่สันนิษฐานว่าติดเชื้อ ประกอบกับคำวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อคัดกรองและกักกันโรคอย่างรวดเร็วและแม่นยำ จะสามารถทำให้ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้น ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น รวมถึงสามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการวินิจฉัยโรคจากภาพรังสีวินิจฉัยอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการแพทย์ไทยในการวินิจฉัย และรักษาสุขภาพของคนไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นผลงานที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สื่อจิตต์ เพ็ชร์ประสาน รองคณบดีกิตติคุณ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะ ได้ใช้โครงสร้างของเครือข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน (Convolutional neural network : CNN) โดยที่ CNN จะจำลองการมองเห็นของมนุษย์ที่มองพื้นที่เป็นที่ย่อย ๆ และนำกลุ่มของพื้นที่ย่อย ๆ มาผสานกัน ลักษณะการวิเคราะห์ภาพของ CNN มีความละเอียดระดับพิกเซล (Pixel) ทำให้สามารถแยกความแตกต่างของภาพในระดับจุลภาค ส่งผลให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำสูงและลดข้อผิดพลาดในการวินิจฉัยได้เป็นอย่างดี
การประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยการนำภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบและภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกที่ไม่พบโรค ของผู้ป่วยเพศหญิงและเพศชายวัยผู้ใหญ่ มาเป็นฐานข้อมูล โดยระบบประมวลผลใช้โครงสร้างของเครือข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน (CNN) ภายใต้โมเดลของเรสเน็ต เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการวิเคราะห์ผล โดยแสดงผลลัพธ์เป็นค่าของเปอร์เซ็นต์การวิเคราะห์ ซึ่งมีความแม่นยำในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบสูงถึงร้อยละ 99.66
     ปัจจุบัน ระบบประมวลผลอัตโนมัติในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อยู่ในช่วงการทดลองทางการแพทย์เพื่อนำไปใช้จริงในภาคสนามต่อไป