ADS


Breaking News

DST เผย โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม

นพ.โกวิท คัมภีรภาพ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

  ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุก ปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขัง ในพื้นที่หลาย ๆ แห่งของประเทศไทย กลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา  น้ำท่วมในเขตเมือง ทำให้ผู้คนต้องยืน หรือเดินลุยน้ำ บางคนต้องสวมเสื้อผ้าที่เปียกอับชื้น ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง  ส่วนในชนบท น้ำที่ท่วมขังในท้องนา อาจมีเชื้อโรคหลายชนิดอยู่ เช่น แบคทีเรีย ปรสิต คนที่ลงไปแช่น้ำในท้องนา ก็อาจเกิดโรคติดเชื้อจากเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้  นอกจากนี้ภาวะน้ำท่วมอาจทำให้สัตว์เลื้อยคลานและแมลงคลาน อพยพหนีน้ำมาอยู่ในบ้านเรือน อาจทำร้ายกัดคน  สาเหตุดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  จึงก่อให้เกิดโรคผิวหนังที่มาพร้อมกับช่วงฤดูฝนและภาวะน้ำท่วมขัง  ดังนี้ 

1. โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต ถือเป็นโรคที่มากับน้ำท่วมที่พบบ่อยที่สุด โรคนี้เกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา โดยเป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกันกับโรคขี้กลาก (Tinea) ซึ่งได้แก่ เชื้อราในสายพันธุ์ Dermatophytes  เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น บนฝ่าเท้า ง่ามนิ้วเท้า ที่เปียกชื้นจากการลุยน้ำท่วมขัง  การสวมรองเท้าที่เปียกอับชื้นมีเชื้อรา เชื้อราจึงรุกรานเข้าสู่ผิวหนังและก่อโรคน้ำกัดเท้าได้ อาการพี่พบ มักจะคันตามง่ามเท้า เป็นผื่นเปื่อยยุ่ย บางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำ มีอาการคัน ที่ฝ่าเท้า และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการที่เพิ่มขึ้นจะอักเสบบวมแดง ปวด หรือเป็นหนอง  การรักษาโรคน้ำกัดเท้า คือการใช้ยารักษาเชื้อรา อาจจะเป็นยาทาครีม imidazole  แต่ถ้าเป็นมาก มีผื่นที่เท้าทั้งสองข้าง อาจต้องรักษาด้วยยากินต้านเชื้อรา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยา โดยทั่วไปโรคน้ำกัดเท้า เป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หายขาดได้ภายใน 2-4 สัปดาห์  โรคน้ำกัดเท้าป้องกันได้โดยรักษาเท้าให้แห้งเสมอ หากจำเป็นต้องแช่ลุยน้ำ หลังขึ้นจากน้ำแล้ว รีบฟอกสบู่ทำความสะอาด ล้างน้ำแล้วเช็ดให้เท้าแห้ง  ผลข้างเคียงจากโรคน้ำกัดเท้า คือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่แผล ซึ่งอาจส่งผลให้แผลมีการอักเสบมากขึ้น และเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

2. โรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘สังคัง’ สาเหตุเกิดจากเชื้อรากลาก (dermatophyte) โรคนี้เป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  เนื่องจากความเปียกชื้นจากการแช่น้ำท่วมขังสูงกว่าขาหนีบ การสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น ทำให้บริเวณใต้ร่มผ้า โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบเกิดความอับชื้นได้ง่าย เชื้อราเจริญงอกงาม จนกลายเป็นผื่นแดง และมีอาการคันตามมา บางคนเกิดจากการเป็นเชื้อราที่เท้า แล้วเวลาสวมกางเกงในจะนำเชื้อราที่เท้าไปสัมผัสขาหนีบ  ทั้งนี้หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา เชื้อราก็อาจจะลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะอาการของหลาย ๆ คนที่เป็นมักจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเกาอยู่ตลอดเวลา และยิ่งเกามาก ๆ ผิวหนังก็จะยิ่งถลอก กลายเป็นว่าปวดแสบปวดร้อนไปอีก นอกจากจะทรมานแล้วยังทำให้เสียบุคลิกอีกด้วย สำหรับยาที่รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ มักจะเป็นยาครีมในกลุ่ม imidazole โดยให้ทาบริเวณที่เป็นผื่นทุกเช้าเย็นหลังอาบน้ำ  ส่วนใหญ่ต้องทายาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จนหายขาด  แต่หากทายาแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจและรักษาทันที ทั้งนี้แพทย์อาจจะให้ยามารับประทานหรือให้ยาตัวใหม่มาทา ซึ่งก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรหลีกเลี่ยงการทาครีมที่ผสมสเตียรอยด์ เพราะนอกจากทำให้โรคไม่หายแล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงจากการทายาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังบาง ผิวแตกลายได้

3. โรคเมลิออยโดซิส (Melioidosis)

    โรคเมลิออยโดซิส เกิดจากแบคทีเรีย เบอร์คโฮลเดอเรีย ซูโดมาลเลอัย (Burkholderia pseudomallei) แบคทีเรียชนิดนี้ชอบอาศัยในน้ำจืดและดินชื้นในเขตร้อน  โรคเมลิออยโดซิสพบได้ทั่วไปในเขตร้อน แต่พบบ่อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในสิงคโปร์และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  ผู้ป่วยโรคเมลิออยโดซิส ส่วนมากเกิดจากบาดแผลสัมผัสดินหรือน้ำปนเปื้อน  ในประเทศไทยพบมากที่สุดในชาวนา โดยเพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิง 4 เท่า  โรคเมลิออยโดซิส มีลักษณะทางคลินิก คือ เป็นฝีหนองตามผิวหนัง ที่อาจแพร่กระจายไปที่ปอด, กระดูก, ข้อ, ตับ, และม้าม  ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ปอด ส่วนมากมีไข้เฉียบพลัน, หนาวสั่น, ไอ, หอบ, และเจ็บหน้าอก การรักษาโรคเมลิออยโดซิส ต้องทดสอบความไวต่อยาทุกครั้ง ระหว่างรอผลใช้ ceftazidime ร่วมกับ TMP-SMX ฉีดเข้าเส้นนาน 10-14 วัน หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นยารับประทาน amoxicillin/clavulanate 2-6 เดือน  ฝีหนองที่ผิวหนังควรเจาะระบายหนองหลังจากเริ่มยาปฏิชีวนะแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด 

    นพ.โกวิท คัมภีรภาพ  พทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเมลิออยโดซิส ผู้ป่วยเบาหวานหรือไตวายเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการลงไปในแหล่งน้ำจืดในถิ่นที่มีโรคชุกชุม โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล  ถ้าต้องลงน้ำหลังจากนั้นให้อาบน้ำฟอกสบู่ล้างตัวให้สะอาด  

4. โรคฉี่หนู ไข้ฉี่หนู หรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ สัตว์ฟันแทะโดยเฉพาะหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ นอกจากนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 160 สปีชีส์ที่อาจเป็นแหล่งรังโรค รวมทั้งสัตว์ป่า, สัตว์เลี้ยง, และปศุสัตว์หลายชนิด  โรคฉี่หนู มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochete) ชื่อ เล็บโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans)  เชื้อนี้สามารถอาศัยอยู่ในหลอดไตในสัตว์ได้นานหลายปี 

     ทั้งนี้ โรคฉี่หนู พบได้ทั่วโลก ยกเว้นเขตขั้วโลก คือ ทุกๆ ที่ๆ ปัสสาวะสัตว์สามารถปนเปื้อนแหล่งน้ำจืดหรือน้ำท่วมขัง  สัตว์จะถ่ายปัสสาวะพร้อมกับเชื้อแบคทีเรียออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำ  เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือน  ในเขตร้อนจะมีการระบาดในฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในสลัมแออัดที่สุขาภิบาลไม่ดี และคนชอบเดินเท้าเปล่า  โรคนี้พบบ่อยในเด็กที่ชอบเล่นน้ำสกปรก และผู้ใหญ่ที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น ชาวนาที่ทำงานในทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง

โรคฉี่หนู ติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น  การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ,การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และเข้าผ่านเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา และปาก หรือผ่านเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน  อาการของโรคฉี่หนู  เริ่มตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต  โดยกว่า 90  เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะมีอาการเล็กน้อยและมักเป็นแบบไม่เหลือง ซึ่งหายได้เอง ส่วนชนิดที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10% ของผู้ติดเชื้อ หลังระยะฟักตัว 5-14 วัน จะมีไข้เฉียบพลัน, หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง, และปวดกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะที่น่องและต้นขา) เป็นอยู่นาน 1 สัปดาห์  หลังจากนั้นเข้าสู่ระยะต่อไป จะมีไข้ต่ำ ๆ แต่ถ้ารุนแรงจะมีผื่น, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ตาอักเสบ, และตับไตวาย

ในสัปดาห์แรกที่ป่วย จะมีตาแดง  ผื่นพบน้อยกว่า 50% และมีลักษณะไม่จำเพาะ ส่วนมากเป็นตามลำตัว  ส่วนวิธีการรักษานั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน โดยชนิดของยาปฏิชีวนะจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ โดยการป้องกันโรคฉี่หนูในชุมชนได้ด้วยการระบายน้ำเสียไม่ให้ท่วมขัง และควบคุมประชากรหนู  ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค  คนที่คาดว่าจะต้องสัมผัสกับน้ำหรือดินปนเปื้อน ควรสวมเสื้อผ้ารองเท้าที่สามารถป้องกันน้ำและดิน 

5. โรคพยาธิหอยคัน (Cercarial dermatitis)

โรคพยาธิหอยคัน เป็นโรคติดเชื้อพยาธิ เกิดจากการลงในน้ำจืดและน้ำทะเล แล้วสัมผัสกับตัวอ่อนของพยาธิใบในเลือดของสัตว์ (non-human schistosomal parasites) หลายสปีชีส์   โรคพยาธิหอยคัน พบได้ทั่วโลก  ในสหรัฐอเมริกา มักพบในคนที่เล่นน้ำทะเล และชาวประมงหาหอย  โรคพยาธิหอยคัน เป็นที่รู้จักกันดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบในเกษตรกรที่ลงไปในทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง ในประเทศไทยมีการระบาดบ่อยๆ ของโรคพยาธิหอยคัน ที่เกิดจากพยาธิหลายสายพันธุ์ ส่วนวงจรโรคพยาธิหอยคัน นั้น เริ่มจากนกน้ำหลายชนิด, หนู, หรือกวาง ถ่ายอุจจาระที่มีไข่พยาธิลงไปในน้ำ  ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 10-15 นาที ตัวอ่อนต้องรีบว่ายน้ำเข้าไปในหอยแล้วเจริญเติบโตแพร่ขยาย  ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ตัวอ่อนถูกปล่อยออกจากหอย  ถ้ามีเหยื่อที่เหมาะสมลงน้ำ ตัวอ่อนจะไชผ่านเข้าผิวหนัง สลัดหางทิ้งแล้วเข้าเส้นเลือด แหวกว่ายผ่านหัวใจและปอดไปที่เส้นเลือดดำในตับ ที่ซึ่งมันจะเติบโตเต็มที่เป็นวัยผู้ใหญ่ จับคู่ แหวกว่ายผ่านเส้นเลือดดำของผนังลำไส้ ที่ซึ่งตัวเมียจะวางไข่  ไข่จะผ่านผนังลำไส้และออกมากับอุจจาระ ถือว่าจบวงจรชีวิต

    ถ้าตัวอ่อนของพยาธิบังเอิญเจาะไชผิวหนังของมนุษย์  ตัวอ่อนจะไชผ่านหนังกำพร้า แต่ไม่สามารถเข้าเส้นเลือด  ตัวอ่อนจะตายอยู่ในชั้นบนของชั้นหนังแท้ และเกิดการเน่าสลายตัวภายใน 3-4 วัน  โปรตีนในซากพยาธิ สามารถกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ เกิดผื่นแดงคันมาก คล้ายลมพิษ  ซึ่งอาจกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนอง อาจปวดและบวม ร่วมกับคันมาก ซึ่งเป็นเต็มที่ใน 48-72 ชม.  ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจมีอาการปวดศีรษะ, มีไข้ ทั้งนี้โรคพยาธิหอยคัน ให้รักษาตามอาการ  ถ้าเป็นน้อยให้ทาคาลาไมน์, และยากินต้านฮิสตามีน  การชำระล้างทำความสะอาดจะช่วยป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  ถ้าอาการรุนแรงอาจต้องไปพบแพทย์

สำหรับในช่วงฤดูฝน สิ่งที่ต้องระวังให้ดี คือ สัตว์จำพวกแมลงคลาน และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู  แมงป่อง ตะขาบ ที่อพยพหนีน้ำมาอยู่ในบ้านเรือน อาจทำร้ายกัดคน  การป้องกันต้องทำให้บ้านพักที่อยู่อาศัยปลอดโปร่ง ไม่รก ตรวจตราเสื้อผ้า รองเท้า ก่อนสวมใส่ ว่ามีสัตว์ร้ายมาแอบอยู่หรือไม่

หากต้องการค้นหาวิธี และศึกษาเรื่อง โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม  สอบถามข้อมูลได้ที่ไหน... (ให้เข้าไปดูข้อมูลได้ที่ช่องทางเพจ “ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง”  หรือเว็บไซต์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย  ได้ที่  WWW.DST.OR.TH