หอการค้าไทย ชูเกษตรและอาหารไทยสู่เกษตรอาหารมูลค่าสูง รุกผนึกกำลัง Connect the dots
หอการค้าไทย หนุนเกษตรและอาหารไทย
เดินหน้าสร้างความร่วมมือ Connect the dots
ผลักดันสู่เกษตรอาหารมูลค่าสูง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมกับคณะกรรมการสายงานเกษตรและอาหาร เพื่อติดตามความคืบหน้าและฟังเสียงสะท้อนแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า คณะกรรมการสายงานเกษตรและอาหาร ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร คณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต คณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป และคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ตามแผนงานที่วางไว้ โดยนำหลักการ BCG Economy และนำองค์ความรู้เทคโนโลยีภาคเกษตรจากต่างประเทศ เพื่อมาสร้างโอกาสให้เกษตรและอาหารในอนาคต พร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือไปยังภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และผลักดันให้ภาคเกษตรและอาหารของประเทศไทยสู่เกษตรอาหารมูลค่าสูง ตามนโยบาย Connect the dots ของหอการค้าไทย โดยเชื่อว่าจะสามารถประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านเกษตรและอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และถือเป็นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประเทศไทยในอนาคต
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร กล่าวว่า ภาคเกษตรเป็น ภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยมีประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรจำนวนมากถึง 27 ล้านคน และมีพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวถึง 71 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.6 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด รองลงมาคือพื้นที่ปลูก ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และพืชอื่น ๆ ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่สำคัญและเร่งด่วนในการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าต่อหน่วยพื้นที่ทางการเกษตร คือ การปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยคณะกรรมการฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรที่มีมูลค่าสูง โดยมุ่งเน้นให้มีการปรับปรุงวิธีการปลูก การแปรรูป การตลาด และมาตรฐาน ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ผ่านรูปแบบ Model Success Case ภายใต้แนวคิด “เกษตรไทย เกษตรเท่ สู่การสร้างเกษตรมูลค่าสูง” ซึ่งมีตัวอย่างหลายโมเดล เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กาแฟ โกโก้ เมล่อนญี่ปุ่น ประมงน้ำจืดระบบ Biofloc เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังได้เข้าไปร่วมทำงานอย่างจริงจังกับหน่วยงานภาครัฐ และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตร คณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (หมุดหมายที่ 1) และคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) โดยมี ป.ย.ป. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร เป็นหน่วยงานประสานการทำงาน สอดรับแนวนโยบาย Connect the Dots เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรมูลค่าต่ำและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปสู่การปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ และประมงที่มีมูลค่าสูง ตรงกับความต้องการของตลาดและเหมาะสมกับพื้นที่ โดยกำหนดเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 10 ในกรอบระยะเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ควบคู่ไปกับการยกระดับไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูง เป็นการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ซึ่งจะทำให้ประเทศมีรายได้จากพื้นที่ร้อยละ 10 สูงกว่าพื้นที่ที่เหลืออีกร้อยละ 90 โดยวางแนวทางการทำงาน 2 ลักษณะ ดังนี้
- การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ (Area Base) ระยะแรกได้เลือกจังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นจังหวัดต้นแบบการทำเกษตรมูลค่าสูง หรือ “ราชบุรีโมเดล” เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการเกษตร โดยเลือกสินค้าเกษตร 6 ชนิด ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม อ้อยโรงงาน โคนม สุกร กุ้งก้ามกราม และเกษตรปลอดภัย-เกษตรอินทรีย์ (พืชผัก) เป็นสินค้าเป้าหมายในการพัฒนา
- การขับเคลื่อนรายสินค้า (Product Base) เป็นการส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีอนาคตเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต และมีผู้ประกอบการที่มีรูปแบบการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ (Success Model) และสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาต้นทางห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตรนั้น ๆ ได้ ซึ่งในระยะแรกได้เลือกสินค้าเกษตร 6 ชนิด ได้แก่ กาแฟ (น่าน), จิ้งหรีด (สุโขทัย), ประมงน้ำจืดระบบ Biofloc (สกลนคร), โคเนื้อ (สุรินทร์/ศรีสะเกษ), พืชผักปลอดภัย-พืชผักอินทรีย์ (นครปฐม/อำนาจเจริญ) และผลไม้ (จันทบุรี/ นครศรีธรรมราช/ ชุมพร)
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ประเทศไทยในช่วงโควิด-19 นอกจากต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผลิตสินค้าที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้ว จำเป็นต้องมองหาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ดังนั้น อาหารแห่งอนาคต (Future Food) และพืชแห่งอนาคต (Future Crop) คือคำตอบที่ไขประตูแห่งอนาคตสำหรับประเทศไทย สำหรับอาหารแห่งอนาคตที่กำลังเป็นกระแสการบริโภคขณะนี้ คืออาหารที่ใช้โปรตีนจากพืช ผลิตเป็นอาหารเชิงสุขภาพ หากพิจารณาประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจของอาหารกลุ่ม Future Food ระหว่างปี 2565–2569 คาดว่า จะมีมูลค่ากว่า 111,100 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) Future Food consumer Packaged Good (มูลค่ารวมกว่า 61,100 ล้านบาท) มีสินค้าที่โดดเด่นคือ กลุ่มสินค้า Whole Food, อาหาร Function, อาหารโปรตีนจากพืช, ผงโปรตีนจากแมลง และ 2) Premium Pet Food (มูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท) ได้แก่ อาหารสัตว์เสริมโภชนาการ
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ได้เตรียมโครงการเพื่อสนับสนุน อบรม ยกระดับสมาชิกทั่วประเทศ ได้แก่
- โครงการ Online Clinic All About Food: ปั้นนักธุรกิจอาหารสู่โอกาสแห่งความสำเร็จ เป็นเวทีให้คำปรึกษาระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารของไทย และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทุกขนาดที่สนใจ
- โครงการ Exclusive Talk: สร้างแรงบันดาลใจผ่าน VTR การเล่าเรื่องจากแนวคิดของผู้บริหารและผู้ประกอบการที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต
- โครงการ Future Food Forum: เวทีสื่อสาร แลกเปลี่ยน และสร้างแรงบันดาลใจจากผู้ประกอบการและกูรูชั้นนำด้านอาหารแห่งอนาคตของไทยและต่างประเทศ
- โครงการ PFC Food News: นำเสนอข่าวสารวงการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต
“ภายใต้นโยบาย Connect the dots เราทำงานเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง อาทิ ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคตไทยส่งออกสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ หรือหารือกับทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสในการค้าและลงทุนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หรือกลุ่ม FoodConnext เพื่อร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันต่อไป” นายวิศิษฐ์ กล่าว
ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย ประธานคณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มุ่งมั่นส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มปศุสัตว์ให้มีการเลี้ยงในระบบมาตรฐาน และต่อยอดสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทั้ง สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ โคนม และที่สำคัญคือโคเนื้อซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญและมีโอกาสเติบโตได้มากในอนาคต ระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 5 ปี เราริเริ่มโครงการส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ ผ่านโครงการเพื่อส่งเสริมเกษตรผู้เลี้ยงโคเนื้อแบบประณีต ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรยกระดับรายได้ของตนเอง และมีเกษตรตัวอย่างที่สามารถทำรายได้ 1 ไร่ 1 ล้านแล้ว และคณะกรรมการฯ ตั้งใจจะขยายผลโครงการไปยังหอการค้าจังหวัดและเกษตรกรในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 และ 2 โดยเน้นให้มีการปรับปรุงวิธีการผลิต การแปรรูป การตลาด และมีระบบมาตรฐานการผลิตที่ดี ตลอดทั้ง Value Chain
คณะกรรมการฯ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโรคระบาด “ลัมปี สกิน” ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย โดยเริ่มแพร่ระบาดเมื่อเดือนมีนาคม 2564 หอการค้าไทยได้มีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ เพื่อเร่งรัดการจัดหาและกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ระบาดอย่างทันท่วงที รวมถึงเป็นเวทีกลางจัดงานเสวนา “ถอดบทเรียนความคิด พิชิตลัมปี สกิน” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรโคเนื้อจากโครงการที่หอการค้าไทยส่งเสริม พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรกรสู่ยุค 4.0 อาทิ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ระบบบันทึกผลการเลี้ยงโคเนื้อบนแอพพลิเคชั่นเซียนบีฟ ที่วิจัยและพัฒนาจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอพดังกล่าว กว่า 179 ฟาร์ม และแอพพลิเคชั่นนิลอุบล ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานในจังหวัดอุบลราชธานีแล้วกว่า 148 ฟาร์ม เป็นต้น
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ประธานคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า ธุรกิจประมงของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจนต้องหยุดชะงักและปิดตัวลง แต่จะเห็นได้ว่าในภาคธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังคงสามารถผลิต พร้อมส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่อไปได้ เนื่องด้วยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และเทคโนโลยีด้านการผลิตและแปรรูปอาหารที่ทันสมัย รวมทั้งการสร้างความมั่นใจในด้านกระบวนการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพปราศจากเชื้อทุกขั้นตอน
คณะกรรมการฯ มุ่งเน้นขับเคลื่อนการทำงานให้สอดรับกับนโยบาย Connect the dots จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างจริงจัง รวมถึงพยายามขับเคลื่อนผ่านทุกช่องทาง ในการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) เพื่อทำการประมงอย่างยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม ขยายการจัดทำมาตรฐาน COVID-19 Prevention Best Practice การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ไปยังสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ได้มาตรฐานฯ จำนวน 157 ราย นอกจากนั้น ยังได้จัดทำข้อเสนอแก้ไขปัญหาการปรับขึ้นราคาแผ่นเหล็กที่ใช้ผลิตกระป๋องและฝา การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือ เสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) รวมทั้งการจัดแถลงข่าวร่วมกับสถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องสถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ทุกไตรมาส
พร้อมทั้ง คณะกรรมการฯ ยังมีการสนับสนุนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของ Covid-19 โดยมีการผลักดันร่วมกับกระทรวงแรงงานในการจัดทำโครงการ factory sandbox จ.สมุทรสาคร ให้เป็นตัวอย่างในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 การปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดสมุทรสาครในการจัดตั้งเตียง กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ในสถานประกอบการที่มีแรงงาน 50 คนขึ้นไป ให้ได้อย่างน้อย 10% และร่วมมือกับสมาคมการค้า จัดหาเครื่องวัดอุณหภูมิและเครื่องวัดออกซิเจน มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รวมทั้งการบริจาคเงินช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงบประมาณจัดสร้างเตียงกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และกลุ่มผู้ป่วยสีแดงในจังหวัดสงขลา อีกด้วย