ADS


Breaking News

“เอนก” เผยระวังฝนตกหนักแต่โอกาสท่วมเหมือนปี 54 มีน้อย ห่วง “น้ำแล้ง” มาแน่ ต้องป้องกันท่วมควบแผนกักเก็บ

     เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร" จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ 
     โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวมาว่าปีนี้จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ประเทศไทยจะต้องเจอกับฝนที่มากขึ้น ฝนจะตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของกองหนุนอย่าง อว. ที่พร้อมนำความรู้ วิชาการต่าง ๆ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมและเครื่องมือที่จะรับมือมาสื่อสารให้สังคมและชุมชนรับรู้ เข้าใจ และสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเด็น “น้ำท่วม น้ำแล้ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่เผชิญกันมาบ่อยครั้งและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังกล่าวว่า สถานการณ์ช่วงนี้ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก แต่โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 มีน้อย เพราะน้ำในเขื่อนยังน้อย เพียง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และปัจจัยจากน้ำทะเลหนุนปีนี้ก็มีไม่มาก จึงเหลือปัจจัยเดียวที่จะต้องเตรียมรับมือคือ น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ชุมชนเมืองเท่านั้น แต่ที่น่ากังวลคือ น้ำแล้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้แน่นอน จึงต้องเตรียมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะที่ป้องกันน้ำท่วมก็ต้องเตรียมกักเก็บน้ำไปด้วย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารจัดการน้ำที่ดีจะป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง จึงต้องมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง อว.พร้อมทำงานร่วมกับทุกกรม ทุกกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นโครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 หรือการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ เพื่อเร่งนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 
     ในวงเสวนาเรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร" ในครั้งนี้  ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ความเห็น ไว้ดังนี้
ดร.พิจิตต รัตนกุล https://web.facebook.com/PostUpNewsTH/videos/158572223028681
     ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในวงเสวนาว่า กรุงเทพมหานคร คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อน ณ เดือนกันยายน มีเพียงประมาณร้อยละ 30 จึงไม่น่าจะเกิดอุทกภัยใหญ่ ประชาชนไม่จำเป็นต้องเชื่อภาคราชการทั้งหมด สามารถเฝ้าระวังได้ด้วยตนเอง โดยติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมการป้องกันบ้านเรือนขั้นต้นก่อนอพยพ รวมถึงเรื่องระบบไฟฟ้าในสถานที่จำเป็น เช่น โรงพยาบาล
     ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า 8 เดือนที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนน้อยกว่าระดับปกติประมาณร้อยละ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระดับปรกติถึงร้อยละ 13 อีกทั้งพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ยังมีฝนตกน้อยมากทำให้ปริมาณน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้อยมาก การคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจากดัชนีสมุทรศาสตร์โอกาสที่จะเกิดอุทกภัยเหมือนปี 2564 จึงเป็นไปได้ยาก
รศ.ดร.เสรี  ศุภราทิตย์
     รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โอกาสเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกหนักจะอยู่ใน Zone ประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น แต่แนวโน้มในอนาคตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ IPCC คาดการณ์ และอาจมีความเสี่ยงจากปริมาณฝนตกหนักจากพายุจร จึงจำเป็นต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
     ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า 
ด้านอุตุนิยมวิทยา ร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตร (Intertropical Convergence Zone : ITCZ ) หรือร่องมรสุม (monsoon trough) เป็นตัวกำหนดปริมาณฝนที่พาดผ่านประเทศไทยเป็นหลัก และนอกจาก ITCZ แล้วยังมีสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนเป็นบริเวณกว้างเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ พายุหมุนเขตร้อน ปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden-Julian Oscillation (MJO) และปัจจัยด้าน climate change ทำให้เกิดร่องมรสุมที่ผิดไปจากปกติ ทำให้เราคาดการณ์ปริมาณฝนได้ยาก จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาหาปัจจัยที่มีผลให้เกิดความผิดปกติร่องมรสุมเพิ่มเติม เช่น ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสวิงของร่องมรสุม ทั้งด้านอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ปัจจัยในการเกิด ENSO และ IOD ส่งผลต่อปริมาณฝนของประเทศไทย
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์  กล่าวว่า จากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมโดยใช้ข้อมูลจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ย้อนหลัง 3 ปี พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยาค่อนข้างน้อย หากจะประเมินความเสียหาย โดยยกตัวอย่าง ข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีพายุมาช่วยเติมฝนเหนือเขื่อนจะมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงต้นปี 2565 แต่หากฝนตกใต้เขื่อนอาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ 
     ด้าน ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้รับมอบให้จัดงานเสวนา เรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร" ในครั้งนี้ขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ อุณหภูมิเพิ่มขึ้น ปริมาณและรูปแบบการกระจายตัวของฝนเปลี่ยนไป ฤดูกาลขยับเลื่อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น สังคมและชุมชนต้องรับรู้และเข้าใจ พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเด็น “น้ำท่วม น้ำแล้ง” เป็นหนึ่งในปัญหาวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่เผชิญกันมาบ่อยครั้ง อีกมุมก็สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาว่า ปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะต้องเจอกับฝนที่มากขึ้น โดยช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564 ฝนจะตกชุกหนาแน่น 60-80% ของพื้นที่กับมีฝนหนักในหลายพื้นที่ อีกด้วย