ADS


Breaking News

วศ. เร่ง Clean and Clear หนุน “โครงการ อว.พารอด” มั่นใจส่งพื้นที่ปลอดภัยสู่ชุมชน

      วันที่ 6 กันยายน 2564 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดโครงการส่งพื้นที่ปลอดภัยสู่ชุมชน โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. พร้อมคณะผู้บริหารหน่วยงาน อว. เข้าร่วมงาน ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชั้น 1 กรุงเทพฯ 

     ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวง อว. เปิดตัวโครงการ "อว. พารอด" ระดม “ของดีและคนดี” กองหนุนฟันฝ่าวิกฤตโควิด ดึงจิตอาสาอาสาสมัครช่วยผู้ป่วย พร้อมส่งยาสมุนไพรและอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงส่งต่อ ‘กำลังใจ’  และความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชนคนไทยให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง โครงการส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยสู่ชุมชนนี้ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่กระทรวง อว. จะช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชนในการคืนพื้นที่ปลอดภัยของชุมชน หลังจากที่ได้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และอื่นๆ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีความสะอาด ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นตามที่เคยปฏิบัติมา โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการรวมพลังทุกภาคส่วนของ อว. เพื่อให้กำลังใจและสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปได้อย่างแน่นอน 

     นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า วศ. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น โดยดำเนินการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่จิตอาสาของกระทรวง อว. นำไปใช้ โดยมีนักวิทยาศาสตร์ของ วศ. เป็นวิทยากรอบรมวิธีการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการทำความสะอาดให้เป็นไปตามมาตรการของกรมอนามัย พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ในการผสม และชุด PPE ให้กับเจ้าหน้าที่จิตอาสาทั้งหมดในครั้งนี้ด้วย 

     ซึ่งวันนี้มีหน่วยงานร่วมดำเนินการทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ,สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ,สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.) ,องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) ,สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ,สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.), สถาบันการศึกษา และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งจะลงพื้นที่รวมทั้งสิ้น 36 จุด โดยมีเจ้าหน้าที่จิตอาสาเข้าร่วมจำนวน 30 ทีมในการส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยสู่ชุมชน