ดย.โดยสถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา ได้รับรางวัลเลิศรัฐ 64 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ กับผลงาน “ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model (Empowerment of Life Skills) ”
กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยสถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา จ.ยะลา
ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ
กับผลงาน “ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model (Empowerment of Life Skills)”
วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยสถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา กับผลงาน “ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model (Empowerment of Life Skills)” ได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ. 2564 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานภาครัฐที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงาน ภาครัฐทั้งปวง สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ และระบบการบริหารงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วโปร่งใส เป็นธรรม และพึงพอใจให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบหรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนและความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า สถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา จังหวัดยะลา ได้ดำเนินการให้บริการเด็กและเยาวชนชายที่มีอายุระหว่าง 7 - 18 ปี ตามภารกิจการให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการปรับรูปแบบการให้บริการสวัสดิการสังคมให้ตรงกับสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย จากแนวคิดที่ว่า “คนทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้” ซึ่งรูปแบบการจัดกิจกรรมมาจากแนวคิดมอนเตสซอรี่ (Montessori) โดยกำหนด 10 ขั้นบันได ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า ELS Model (Empowerment of Life Skills) สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้รับการพัฒนาตนเองตามศักยภาพ ไม่สูญเสียโอกาส อีกทั้งไม่เป็นการเพิ่มปมปัญหาภายในใจของกลุ่มเป้าหมาย สามารถลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
นางสุภัชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ ฯ ได้รับจากโครงการ “ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model” มีดังนี้ 1. เด็กกลุ่มพิเศษไม่ต้องถูกส่งไปยังหน่วยงานอื่น และได้รับบริการตามคุณลักษณะที่เป็น 2. เด็กได้รับการยอมรับจากสถานศึกษา และได้กลับเข้าไปเรียนตามปกติ 3. เด็กแสดงพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของสังคม 4. เด็กเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง 5. เด็กได้รับการพัฒนาตนเองอย่างสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของแต่ละคน มีทักษะการประกอบอาชีพ 6. ลดผลกระทบทางด้านจิตใจ จากการส่งต่อไปยังสถานรองรับอื่น 7. เด็กสามารถพึ่งพาตนเองได้เมื่อกลับคืนสู่สังคม
“ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model” สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ ในมิติสังคม เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีข้อมูลยืนยันจากทั่วโลกว่า การศึกษานั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน และรูปแบบการศึกษาของไทยนั้นมีด้วยกัน 3 แบบ กล่าวคือ 1) การศึกษาในระบบ 2) การศึกษานอกระบบ และ 3) การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ตามศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่น ๆ การจัดรูปแบบการศึกษาแต่ละแบบนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อม บริบทของสังคมแต่ละพื้นที่ โดยหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ให้ความสำคัญและสนับสนุนในคนทุกคนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้พื้นฐานข้อจำกัดของแต่ละคน จึงถือได้ว่ารูปแบบการจัดบริการสวัสดิการสังคม ELS Model เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย อีกทางเลือกหนึ่งของเด็กทุกคนในสถานรองรับ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยสถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา มีแนวคิดวางแผนขยายผลรูปแบบของการบริการไปยังหน่วยงานอื่น โดยเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถานรองรับอื่น ๆ เพื่อลดปัญหาการส่งต่อเด็กในความอุปการะไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กสูงสุด โดยคำนึงถึงเด็กเป็นศูนย์กลางของการจัดบริการ การเตรียมความพร้อมครอบครัว ชุมชน ให้เกิดความเข้าใจถึงคุณลักษณะของเด็ก เพื่อสนับสนุนส่งเสริมเด็กให้มีที่ยืนในสังคม เมื่อเด็กกลับคืนสู่สังคม นางสุภัชชา กล่าวทิ้งท้าย