ADS


Breaking News

วิศวลาดกระบัง เสริมแกร่งนักศึกษา ผ่าน Industrial Package + K-Engineering IQA ส่งประสบการณ์ทำงานภาคอุตสาหกรรมนานกว่า 12 เดือน

วิศวลาดกระบัง กับ Industrial  Package + K-Engineering IQA

มอบประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมนานกว่า 12 เดือน

ยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจน Digital technology disruption ที่จะวัดความสามารถและความอยู่รอดขององค์กร ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันโลก รวมถึงการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้น้องๆ มีประสบการณ์ทำงานมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือสำคัญของวิศวลาดกระบัง กับสมาคมศิษย์เก่าวิศวลาดกระบัง เครือข่ายศิษย์เก่าเข้มแข็ง เพื่อมอบความเป็นมืออาชีพให้น้องๆ ตอกย้ำความเป็นหนึ่งและเป็นที่พึ่งของสังคม 

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้จัดโครงการ Industry Collaboration PackageKMITL Engineering School เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสสร้างเสริมทักษะและประสบการณ์การทำงานกับภาคอุตสาหกรรมโดยตรงยาวนานขึ้นกว่า 12 เดือนตลอดระยะเวลาการเรียน ส่งเสริมให้ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และภาคอุตสาหกรรมได้ร่วมกันพัฒนาและวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพ เมื่อเรียนจบออกมาก็จะเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็จะได้นักศึกษาไปร่วมงานนานกว่าเดิม ทำให้ได้ผลงานที่มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพมากกว่าเดิม 

วิชาเรียนในกลุ่ม "Industry Collaboration Package –KMITL Engineering School ประกอบด้วย 

Industrial Training in Summer เป็นวิชาภาคบังคับสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ใช้เวลาปฏิบัติงานที่สถานประกอบการ ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จำนวน 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน

Cooperative Education  สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ใช้เวลาปฏิบัติงานที่สถานประกอบการ ช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน จำนวนไม่ต่ำกว่า 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน ในภาคเรียนที่ 1

Capstone Design Project  นักศึกษาจะใช้เวลาปฏิบัติงานที่สถานประกอบการ ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน จำนวนไม่ต่ำกว่า 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน 

Industry Experience for Engineering  นักศึกษาชั้นปี 4 ที่ผ่านวิชาสหศึกษา ใช้เวลาปฏิบัติงานที่สถานประกอบการ ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ไม่น้อยกว่า 2 วัน รวมเป็นจำนวน 16 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในภาคเรียนที่ 2  ดังความสำเร็จของที่เกิดขึ้นของคณะฯที่ น.ส.พรไพลิน ว่องประเสริฐ ได้รับรางวัลดีเด่นระดับชาติ จากการประกวดโครงงานสหกิจศึกษาประจำปี 2563-2564 ชื่อโครงการ แอบพลิเคชั่นอ่านค่าอุณหภูมิจาก Thermal Sense ผ่านNFC ร่วมกับ บริษัทซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด 

วิศวลาดกระบังได้ผนึกกำลังระหว่างคณาจารย์ นักศึกษาของคณะฯ ภาคอุตสาหกรรม และศิษย์เก่าวิศวลาดกระบัง ส่งเสริมการ Matching Project กับนักวิจัยและภาคอุตสาหกรรม ด้วย EIDTs ของคณะฯ และ KRIS. สจล. พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมมอบโอกาสและประสบการณ์ให้น้องๆนักศึกษาได้ประสบความสำเร็จในการทำงาน ด้วย Industrial Package  พร้อมทั้งระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่มีผู้ตรวจจากภาคอุตสาหกรรม K-Engineering IQA  เพื่อการศึกษาที่ดี ชีวิตดี และ สิ่งแวดล้อมดี ตามนโนบายของ สจล.และท่านอธิการบดี  ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ส่งเสริมความเป็น World Class Research and Innovation ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยแบบพุ่งเป้าด้วยความร่วมมือทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกของประเทศและต่างประเทศ สร้างงานวิจัยเกิดนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาสู่ SME  เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ 

ด้วยความร่วมมือของศิษย์เก่ารุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จได้เข้ามาช่วยสนับสนุน นำโดยคุณธิติวัฒน์ เงินนำโชคธนรัตน์ อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซีกรุ๊ป จำกัด, ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุวรรณภูมิ จำกัด กล่าวถึง “สิ่งที่เราต้องการจากเด็กรุ่นใหม่ คือ ความอดทนที่มาพร้อมกับความพยายามเรียนรู้กับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความอดทน เรียนรู้และสร้างความแข็งแกร่งด้วยตัวเอง ไม่ทำตัวเป็นเหมือนน้ำที่เต็มแก้ว พร้อมก้าวไปข้างหน้า สามารถประสานงานและการพูดคุยกับเจเนอเรชั่นอื่น ๆ ด้วยความราบรื่น และสิ่งสำคัญที่สุดคือ มีประสาทสัมผัสหรือวิสัยทัศน์ที่จะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้หรือยาวไกล” ทำให้การออกแบบหลักสูตรจึงต้องมีความทันสมัยสอดรับกับความต้องการในปัจจุบัน

อีกทั้ง คุณนท นิมสมบุญ ในฐานะว่าที่นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนียน แอ็สโซซิเอทส์(ไทย) จำกัด, บริษัท ยศวดี จำกัด, บริษัท รักษนา พรีเมียม ไรซ์ จำกัด กล่าวถึงบทบาทของสมาคมศิษย์เก่าฯ ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกศิษย์เก่า สมาชิกในองค์กร บริษัท ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่มีความเหนียวแน่นในกลุ่มสมาชิก 2.เผยแพร่ชื่อเสียงของสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปสู่เครือข่ายของสมาคมและบุคคลภายนอก 3.ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของคณะและสถาบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันสูงสุด 4.ส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการแก่สมาชิก เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการให้กับสมาชิกศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน 5.ร่วมมือกับสมาคมองค์กร หรือสถาบันอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการศึกษา วัฒนธรรม และมนุษยธรรม หรือร่วมสนับสนุนกิจกรรมกับองค์กรอื่นๆ  

ดังนั้นวิศวลาดกระบัง จึงมีเครือข่ายที่ร่วมกันปั้นน้องๆ สู่วิศวกรมืออาชีพ ซึ่ง ผศ.ดร.เปี่ยมภูมิ สฤกพฤกษ์ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กำกับดูแลและรับผิดชอบงานกิจการนักศึกษาและแผนงาน กล่าวว่า Industrial Package คือการที่วิศวลาดกระบังจะไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม จากเดิมที่นักศึกษามีระยะเวลาฝึกงานเพียง 2 เดือน และต่อเนื่องด้วยสหกิจศึกษาที่ทำให้นักศึกษาอยู่กับอุตสาหกรรมอีก 4 เดือน รวมเป็น 6 เดือน แต่ Industrial Package จะขยายระยะเวลาจนถึงสิ้นปี คือเดือนธันวาคม เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมได้นานถึง 12 เดือน ส่งเสริมให้น้องๆมีทักษะมากขึ้น

“วิชา Industrial Experience for Engineering เป็นวิชาใหม่สำหรับนักศึกษารุ่นปัจจุบัน โดยนักศึกษาสามารถไปอยู่และฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมอีก 1 ภาคการศึกษา ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม นั่นหมายความว่า นักศึกษาจะฝึกงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนพฤษภาคม ครบรอบ 1 ปี หรือ 12 เดือนพอดี ทำให้นักศึกษาสามารถฝึกทักษะและสร้างเสริมประสบการณ์ ได้พัฒนาตนเองให้มีความพร้อมเพื่อการออกไปทำงานจริง”

ทั้งนี้ การฝึกงาน หรือสหกิจศึกษา ดำเนินการได้ 2 รูปแบบ 1.การที่บริษัทหรือภาคอุตสาหกรรม เข้ามานำเสนอกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ และงานกิจการนักศึกษา ทางคณะก็จะนำข้อเสนอเหล่านี้ ส่งตรงไปให้กับนักศึกษา 2.นักศึกษาหาบริษัทที่สนใจจะเข้าร่วมฝึกงานและทำสหกิจศึกษาด้วยตนเอง โดยทางคณะวิศวกรรมศาสตร์และกองกิจการนักศึกษาจะมีระบบกลั่นกรองว่า บริษัทดังกล่าวมีหัวข้องานที่น่าสนใจ นักศึกษาสามารถฝึกประสบการณ์ได้จริง

ส่วนการวัดผลการฝึกงาน จะดำเนินการโดยคณะกรรมการวัดผล อาทิ อาจารย์ผู้ควบคุมหรืออาจารย์นิเทศน์ จะเข้าไปช่วยดูแลกำกับการฝึกงานจริง มีการสื่อสารระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับทางอุตสาหกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ที่เป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายของทางคณะ

ตลอดระยะของการเรียนในหลักสูตรในชั้นปีที่ 1 – 3 นักศึกษาได้เรียนวิชาต่าง ๆ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ แต่การเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ดังนั้นในช่วงปีที่ 4 จึงเริ่มให้มีการฝึกงานช่วงภาคฤดูร้อน จนสำเร็จการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกจริง ปฏิบัติงานจริงจากพื้นฐานที่ได้เรียนมา ซึ่งตลอดระยะฝึกงาน 12 เดือน ถ้าหากนักศึกษาสามารถสร้างสรรค์ ครีเอทโจทย์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และอาจารย์นิเทศ จนออกมาเป็นนวัตกรรม จะทำให้นักศึกษาสามารถต่อยอดเป็น Start Up โดยบริษัทต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุน ก็จะทำให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในชีวิตได้เร็วขึ้น

ผศ.ดร.รวิภัทร ลาภเจริญสุข  ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำกับดูแลและรับผิดชอบงานวิชาการปริญญาตรี งานประกันและพัฒนาคุณภาพการศึกษา สจล. กล่าวถึงการวัดผล หรือ K-Engineering IQA ว่า เป็นระบบประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ ที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. พัฒนาขึ้น โดยอ้างอิงจากเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของสภาวิศวกร ซึ่งวิศวลาดกระบังได้นำเกณฑ์นี้มาวัดคุณภาพหลักสูตรระดับปริญญาตรี 

จุดเด่นที่สำคัญของ K-Engineering IQA คือกรรมการผู้ตรวจประเมิน จะไม่ใช้อาจารย์เป็นคนตรวจกันเอง แต่ได้เชิญและแต่งตั้งคณะกรรมการจากภาคอุตสาหกรรม กรรมการชุดนี้ เรียกว่า Industrial Advisory Board หรือบอร์ด IAB ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับทุกหลักสูตรวิศวกรรมลาดกระบัง ลดจำนวนการจัดทำเอกสาร ไม่มีการวัดคะแนน แต่หันมาเน้นที่การแสดงทัศนะจากผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมด้วยความยืดหยุ่น มีการปรับหลักสูตรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เป็นเครือข่ายลาดกระบังเข้มแข็ง ความแน่นแฟ้นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ สมาคมศิษย์เก่าวิศวลาดกระบัง ผ่านหลากหลายโครงการและผสานพลังที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์ K-Eng IQA, Industrial Package, Commercialized Product, และนวัตกรรมเพื่อสังคม ค้นหาคำตอบและผลแห่งการรวมพลังช่วยเหลือสังคม และเสริมความแกร่งคณะและศิษย์เก่า สร้างความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับวิศวลาดกระบัง สังคมและประเทศชาติ

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-329-8314

Facebook : งานกิจการนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

Youtube: Engineering KMITL Channel ; Ep.6 Industrial Package + K-Engineering IQA

Line : @ezd8794o