เพาะกาย นำร่องจัดแข่งออนไลน์แบบ “ไฮบริดอีเวนต์”
เพาะกายเตรียมปรับรูปแบบการแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนส ในรูปแบบ Hybrid Event (ไฮบริด อีเวนต์) เพื่อนำร่องให้กับการจัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนสรายการอื่นๆ ให้นักกีฬาแข่งขันผ่านระบบออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการรวมตัวกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19) ที่ยังระบาดกันอย่างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้และทำให้การจัดการแข่งขันกีฬาที่จำเป็นของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมการแข่งขันกันใหม่ โดยทาง สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เตรียมจับมือกับ การกีฬาแห่งประะเทศไทย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนสในรูปแบบ Virtual Hybrid Bodybuilding and Physique Sports Championships (เวอร์ชวล ไฮบริด บอดี้บิวดิ้ง แอนด์ฟิสิค สปอร์ต แชมเปี้ยนชิพ) ขึ้น เพื่อเป็นการนำร่องให้กับการจัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนสในอนาคต ซึ่งจะทำกาารแข่งขันโดยมีนักกีฬาจริงๆ มาแข่งขันผ่านระบบออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการรวมตัวกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
“จากผลกระทบที่ทางภาครัฐยังไม่อนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬาที่มีการรวมตัวกันมากๆ ได้ทำให้สมาคมฯ ได้ประชุมปรึกษาหารือถึงแนวทางการจัดการแข่งขันรูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้กำหนด จึงเกิดเป็นแนวคิดการจัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนสในรูปแบบ Virtual Hybrid Bodybuilding Physique Sports Championships (เวอร์ชวล ไฮบริด บอดี้บิวดิ้ง แอนด์ฟิสิค สปอร์ต แชมเปี้ยนชิพ) ขึ้นมา เป็นการแข่งขันในระบบออนไลน์”
“ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมฯ ได้มีการทดลองดำเนินการจัดขึ้น และนำเสนอรูปแบบการจัดการแข่งขันรายการดังกล่าวให้กับทางสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก ให้ความเห็นชอบและรับรองให้เป็นการแข่งขันในระดับสากลต่อไป ทั้งนี้สมาคมยังได้นำรูปแบบการจัดการแข่งขันดังกล่าวเสนอให้กับทางการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อเตรียมบรรจุเข้าเป็นชนิดกีฬาในมหกรรมกีฬาออนไลน์ที่ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย จะมีการจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติในเร็วๆ นี้ด้วย”
“ในช่วงเริ่มต้นการจัดการแข่งขันจะกำหนดให้มี 14 ประเภท ดังนี้ 1) เพาะกายชาย เยาวชน อายุไม่เกิน 20 ปี 2) เพาะกายชาย Open (โอเพ่น) 3) เพาะกายชาย มาสเตอร์ อายุ45 ปีขึ้นไป 4) เพาะกายหญิง Open (โอเพ่น) 5) แอธเลติคฟิสิคชาย Open (โอเพ่น) 6) แอธเลติคฟิสิคชาย มาสเตอร์ อายุ45 ปีขึ้นไป 7) แอธเลติคฟิสิคหญิง Open (โอเพ่น) 8) สปอร์ตฟิสิคชาย เยาวชน อายุไม่เกิน 20 ปี 9) สปอร์ตฟิสิคชาย Open (โอเพ่น) 10) สปอร์ตฟิสิคชาย มาสเตอร์ อายุ45 ปีขึ้นไป 11) โมเดลฟิสิคหญิง Open (โอเพ่น) 12) เลดี้ฟิสิคหญิงอายุ35 ปีขึ้นไป 13) ฟิตเนสชาย Open (โอเพ่น) 14) ฟิตเนสหญิง Open (โอเพ่น)”
“กติกาการแข่งขันนั้น ใช้ข้อบังคับและกติกาการแข่งขัน จากแซทเวอร์ชวลเกมส์, สหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งเอเชียและโลก พร้อมด้วยกติกาของสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งเอเชีย โดยจะให้นักกีฬาแต่ละคนนั้นส่งคลิปการแสดงให้เสมือนกำลังแข่งขันจริง การแต่งกายรูปแบบจริง และถูกต้องตามกฎระเบียบ แบ่งการแข่งขันเป็นรอบคัดเลือก และรอบชิงชนะเลิศ มีการรายงานตัวตามเวลาที่กำหนด คลิปเวลาแข่งที่ทุกคนจะต้องส่งนั้น คลิปต้องไม่มีการตัดต่อ แบ่งเป็นท่าบังคับ ท่าละ 10 วินาที เพาะกายชายและแอธเลติตฟิสิคชาย 7 ท่า, แอธเลติคหิสิคหญิง 6 ท่า สปอร์ตฟิสิคชาย, โมเดลหญิง, ฟิตเนสชาย-หญิง 4 ท่า และอีกคลิปเป็นฟรีโพสซิ่ง อีก เพาะกายชาย, แอธเลติคชาย, สปอร์ตฟิสิคชาย, โมเดลหญิง ไม่เกิน 1 นาที (60 วินาที) ส่วนฟิตเนสชาย-หญิง แสดงท่าชุดประกอบเพลง ไม่เกิน 90 วินาที และก็จะมีการตัดนักกีฬาจากรอบคัดเลือกให้เหลือ 5 คน ในรอบชิงชนะเลิศและเอาคลิปขึ้นระบบซูมให้คณะกรรมการตัดสิน เหมือนนักกีฬากำลังแข่งขันจริง”
“โดยเราจะเริ่มทำการแข่งขันรายการแรกในช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งการแข่งขันรูปแบบนี้จะรองรับรูปแบบการจัดการแข่งขัน ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย อยากจะให้สมาคมกีฬาแต่ละสมาคมฯ ลองทำให้เป็นการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ หลังจากที่เราได้ทำการทดสอบระบบและให้นักกีฬาทีมชาติไทย ทดลองโปรแกรมแข่งขัน ถ้าเป็นไปได้ด้วยดี เราจะลองจัดการแข่งขันในรูปแบบนี้อีกหลายรายการ โดยผู้ชมสามารถเข้ามาดูบรรยากาศการแข่งขันได้แบบแข่งขันสดเสมือนจริงได้ โดยผ่านระบบที่เราได้ทำก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักกีฬาได้มีเวทีการแข่งขัน รวมถึงผู้ชมได้สามารถรับชมการแข่งขันได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทางสมาคมฯ เชื่อว่าการจัดการแข่งขันในรูปแบบ "เวอร์ชวล ไฮบริด"(Virtual Hybrid) นี้จะมีความสนุกสนานไม่น้อยกว่าการแข่งขันในแบบแข่งขันเห็นตัวกันจริงๆ แน่นอน”