ADS


Breaking News

อธิบดี สบส.เผย! สถิติผู้ออกกำลังกายช่วงโควิด19

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดผลสำรวจการออกกำลังกายช่วงโควิด 19 ซึ่งวิถีใหม่ ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า ประชาชนมีทัศนคติไม่ถูกต้องสูงสุดเกี่ยวกับการออกกำลังกาย  คือ  เรื่องไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเมื่อเหนื่อยจากการ ทำงานแล้ว และมีความคิดเห็นว่า การออกกำลังกายหรือไม่ออกกำลังกาย ก็ส่งผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน 


นพ.ธเรศ  กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การทำงาน การเรียน การรักษาสุขภาพ  ประชาชนจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน  ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็น      สิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 วิถีชีวิตของประชาชนเมื่อต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้มีการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมทางกายน้อยลง  แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีความรู้ความเข้าใจว่าการออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรคได้ 


           นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ โดยการสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์  ในกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 15 - 59 ปี เรื่อง พฤติกรรม  การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 13  เขตสุขภาพ และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข 76 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2564  ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนวัยทำงานส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อการออกกำลังกายสูงสุด   คือเรื่อง  ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเมื่อเหนื่อยจากการทำงานแล้ว ตอบว่าเห็นด้วยเฉลี่ย 29.3 % รองลงมาคือ  การออกกำลังกายหรือไม่ออกกำลังกายก็ส่งผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน  ตอบว่าเห็นด้วย 24.9 %  ในด้านความรู้ความเข้าใจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจ ในระดับดีมาก มีเพียง 11.6 % เท่านั้น   เรื่องที่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ถูกต้องสูงสุด คือ เรื่องเวลาที่เหมาะสมในการออกกำลังกายอยู่ระหว่าง          20 - 60 นาที ต่อครั้ง  ตอบว่าไม่ใช่ เฉลี่ย 11.6 % รองลงมาคือเรื่อง การออกกำลังกายช่วยลดโอกาสป่วย  ด้วยโรคไม่เรื้อรัง ตอบว่าไม่ใช่ 8.1 %


         นพ.ธเรศ กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากการป้องกันตนเอง  โดยสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การล้างมือให้สะอาด หรือการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง   ทางสังคม  (Social Distancing)  และฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19  ทุกคนจำเป็นต้องดูแลสุขภาพเชิงรุก เพราะมีความจำเป็นในสภาวะนี้  โดยการทำให้ร่างกายของตนเองแข็งแรง และมีภูมิต้านทานที่ดีอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้  การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่น  และความแข็งแรงของร่างกาย เพิ่มศักยภาพในการทำงาน ลดความเครียด  นอกจากนี้การออกกำลังกายจะลดโอกาสการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ เป็นต้น


ด้านนางสาวมะลิ  ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า การออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง  วัยทำงานควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม  ตามบริบทของผู้ออกกำลังกาย เช่น อุปกรณ์ สถานที่ เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน หากไม่มีอุปกรณ์หรือพื้นที่ อาจเลือกชนิดการออกกำลังกาย      ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก เช่น การเล่นฮูลาฮูป  โยคะ เต้นแอโรบิก เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะรอบบริเวณบ้าน โดยใช้เวลาออกกำลังกายให้ได้ 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องนานครั้งละ 20 - 60 นาที  จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ของระบบหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ หรือการมีกิจกรรมทางกาย เช่น ทำงานบ้าน การแกว่งแขน หรือการเดิน ก็ถือว่ามีผลดีต่อสุขภาพ เพราะช่วยลดโรค และถ้าทำต่อเนื่องยังสามารถช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน      ในร่างกายได้อีกด้วย นอกจากนี้ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ กินผักผลไม้ให้มาก ลดอาหารหวาน  มัน เค็ม วัยทำงานการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอมีความสำคัญมาก ร่างกายจะเกิดการซ่อมแซมตัวเอง  ควรนอนหลับให้ได้วันละ 7 – 9 ชั่วโมง 

    ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดต่อผ่านช่องทางการติดต่อของกองสุขศึกษา ผ่านช่องทาง Facebook และเว็บไซต์กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ htpp://www.hed.go.th

                                            ///////////////////

ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 38.5 และข้อมูลในการเฝ้าระวังฯ มีการกระจายทั้ง 13 เขตสุขภาพ โดยเขตสุขภาพที่ 11 มีความชุกของข้อมูลมากที่สุดร้อยละ 17.3 

ข้อเสนอแนะ 

1) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข ควรมีการรณรงค์ เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ที่ถูกต้องให้ประชาชนกลุ่มวัยทำงาน ในประเด็นต่อไปนี้ 

(1) ออกกำลังกาย 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องนานครั้งละ 20 – 60 นาที และมีความหนัก อยู่ในระดับปานกลาง 

(2) การออกกำลังกายมีประโยชน์มาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดโอกาสป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น 

(3) การออกกำลังกายมีความสำคัญ และจำเป็น สามารถทำได้ทุกที่ ไม่เว้นที่ทำงาน 

2) ควรมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกกำลังกายผ่านสื่อบุคคลเป็นหลัก เช่น ผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นต้น 

3) ควรมีการจัดกิจกรรม ชวนคนที่เรารักมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” 

4) ควรมีการส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ในหมู่บ้าน ชุมชน ที่ทำงาน