ADS


Breaking News

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ" ระหว่าง สอวช. วช. และ มจธ.

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
โครงการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
ระหว่าง

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

และ

สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
     บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ทำขึ้น ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ระหว่าง
     สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลงความ
ร่วมมือเอกสาร ผนวก ๑ ซึ่งต่อไปในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เรียกว่า “สอวช.” ฝ่ายที่หนึ่ง กับ
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๖ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐ โดย นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเอกสาร ผนวก ๒ ซึ่งต่อไปในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เรียกว่า “วช.” ฝ่ายที่สอง กับ
     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๖ ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๔๐ โดย นายสุวิทย์ แซ่เตีย ตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเอกสาร ผนวก ๓ ซึ่งต่อไปในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เรียกว่า “มจธ.” ฝ่ายที่สาม 
     โดยที่ สอวช. วช. และ มจธ. ได้ตกลงร่วมมือกันดำเนินงาน “โครงการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ” จึงได้ตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้นโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. ความเป็นมา
     “ระบบวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) โดยการสร้างสมรรถนะของผู้มีบทบาทสำคัญในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน) ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีบทบาทสำคัญให้บูรณาการการทำงาน ร่วมกันอย่างเข้มแข็งและการสร้างปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมวิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐ ประเทศจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์และตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ (Strategic Positioning) ของประเทศให้มีความชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาวิจัยนโยบายเพื่อให้เข้าใจถึงวิวัฒนาการและสถานะปัจจุบันของการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy) สามารถนำมาใช้ในการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ของประเทศ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้

๒. วัตถุประสงค์
     ๒.๑ เพื่อพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม
     ๒.๒ เพื่อร่วมพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการเพิ่มขีดความสามารถและการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
     ๒.๓ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ให้เกิดเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การร่วมกำหนดและผลักดันนโยบาย ววน. ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

๓. ขอบเขตความร่วมมือและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน
     ๓.๑ บทบาทหน้าที่ของ สอวช.
     ๓.๑.๑ สนับสนุนเชิงโยบายในการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และร่วมดำเนินการพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สัมฤทธิ์ผลอย่างสมบูรณ์
     ๓.๑.๒ สนับสนุนและร่วมพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการเพิ่มขีดความสามารถและการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
     ๓.๑.๓ ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ให้เกิดเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย
     ๓.๒ บทบาทและหน้าที่ของ วช.
     ๓.๒.๑ ส่งเสริมการพัฒนาและสะสมองค์ความรู้ด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
     ๓.๒.๒ ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ให้เกิดเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย
     ๓.๓ บทบาทและหน้าที่ของ มจธ.
     ๓.๓.๑ พัฒนาและสะสมองค์ความรู้ด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
     ๓.๓.๒ กำกับ ดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน
     ๓.๓.๓ ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ให้เกิดเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย

๔. ระยะเวลาการดำเนินการ
     บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา ๓ (สาม) ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเป็นต้นไป ทั้งนี้ ทั้งสามฝ่ายอาจตกลงกันขยายระยะเวลาความร่วมมือออกไปได้ตามความเห็นชอบร่วมกัน และให้จัดทำเป็นหนังสือตามแบบเช่นเดียวกับการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
     อย่างไรก็ตาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้อาจสิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาความร่วมมือดังกล่าวในกรณี ดังนี้
     ๔.๑ ทั้งสามฝ่ายตกลงกันเป็นหนังสือ เพื่อยกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้
     ๔.๒ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ โดยมีหนังสือแจ้งให้อีกสองฝ่ายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ (สามสิบ) วัน 
     ๔.๓ กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และฝ่ายที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในกำหนด ๓๐ (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ฝ่ายที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม เงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ฝ่ายที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีสิทธิบอกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้
     การที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้สิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยกรณีใด ไม่มีผลเป็นการยกเลิกโครงการย่อย ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ที่ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ในระหว่างดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เว้นแต่ทั้งสามฝ่ายจะตกลงเป็นหนังสือกันเป็นอย่างอื่น
     เมื่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้สิ้นสุดลง แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะดำเนินงานโครงการย่อยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ต่อไปได้เอง หรือร่วมมือกับบุคคลอื่นต่อไปได้โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ในส่วนของตน โดยจะต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอีกสองฝ่าย และไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ และ/หรือ ความลับทางการค้าของอีกสองฝ่าย
     ให้ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ยังมีผลบังคับอยู่ต่อไป แม้บันทึกข้อความตกลงความร่วมมือนี้จะสิ้นสุดลงแล้ว
๕. กรรมสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา
    กรรมสิทธิ์และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิอื่นใดของผลงาน สิ่งประดิษฐ์ คู่มือ เอกสาร โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ข้อมูล หรือสิ่งอื่นใดที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นจากการดำเนินงานโครงการย่อยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อตกลงในแต่ละโครงการย่อยเป็นรายกรณีไป

๖. การรักษาความลับ
     ทั้งสามฝ่ายตกลงว่าจะรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ และ/หรือความลับทางการค้า ซึ่งฝ่ายที่เป็นเจ้าของข้อมูลที่เป็นความลับและ/หรือความลับทางการค้าประสงค์จะให้เก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวนั้นไว้เป็นความลับ ซึ่งต่อไปในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้รวมเรียกว่า “ข้อมูลที่เป็นความลับ” โดยทั้งสามฝ่ายจะไม่เปิดเผย เผยแพร่ หรือกระทำด้วยวิธีการใดให้บุคคลภายนอกได้รับทราบข้อมูลที่เป็นความลับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของข้อมูลที่เป็นความลับ และกรณีที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับแก่บุคลากร พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลภายนอกที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อมูลที่เป็นความลับนั้น ฝ่ายที่เปิดเผยข้อมูลจะต้องดำเนินการให้บุคลากร พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา และ/หรือบุคคลภายนอกดังกล่าวต้องผูกพันในการรักษาความลับของข้อมูลที่เป็นความลับ โดยมีข้อกำหนดเช่นเดียวกับข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ด้วย
     การรักษาความลับดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้ยังมีผลต่อไป ตราบใดที่ข้อมูลที่เป็นความลับดังกล่าวยังคงเป็นความลับอยู่ แม้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือจะสิ้นสุดลงแล้ว ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากฝ่ายที่เป็นเจ้าของข้อมูลที่เป็นความลับนั้นก่อน
     ข้อกำหนดเรื่องการรักษาความลับตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือข้อนี้ ให้ใช้บังคับกับข้อตกลงของแต่ละโครงการย่อยด้วย เว้นแต่ทั้งสามฝ่ายจะมีข้อตกลงเป็นหนังสืออย่างอื่น
๗. การละเมิดสิทธิของบุคคลภายนอก
     แต่ละฝ่ายจะต้องไม่ดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้และ/หรือโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ไปในทางที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหาย การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการละเมิดสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายของอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอก
     กรณีที่บุคคลภายนอกกล่าวอ้างหรือใช้สิทธิเรียกร้องใดแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ หรือโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายของบุคคลภายนอก ฝ่ายที่ถูกใช้สิทธิเรียกร้องจะต้องแจ้งให้อีกทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป
     หากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ฝ่ายใดกระทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายของบุคคลภายนอกจริง ฝ่ายนั้นจะต้องรับผิดชอบในค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียม ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมดด้วยตนเองและแทนอีกสองฝ่ายโดยประการทั้งปวง

๘. การแก้ไขและเปลี่ยนแปลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
     หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ให้แจ้งอีกสองฝ่ายให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ (สามสิบ) วัน และเมื่อทั้งสองฝ่ายให้ความยินยอมในการแก้ไขเพิ่มเติมบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือนี้แล้ว ให้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหนังสือ และให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลความมือฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น

๙. การโอนสิทธิตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
     ทั้งสามฝ่ายไม่สามารถโอนสิทธิและหน้าที่ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ให้แก่บุคคลอื่นได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากอีกสองฝ่าย
๑๐. เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
     เอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
     ผนวก ๑ สำเนาคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๔/๒๕๖๓ จำนวน ๑ หน้า ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
     ผนวก ๒ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้ง จำนวน ๑ หน้า ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
     ผนวก ๓ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดี จำนวน ๑ หน้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒