*อว. จับมือ กห. ลงนามความร่วมมือ ผลักดันงานวิจัยเพื่อความมั่นคง*
วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ พลเอกณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนามความร่วมมือ ในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง ระหว่างกระทรวงกลาโหม (กห.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ บุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านความมั่นคง รวมถึงผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความมั่นคงของประเทศให้เข้มแข็ง โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นพยานความร่วมมือดังกล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยด้านความมั่นคงเป็นด้านหนึ่งที่กระทรวงให้ความสำคัญ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับกระทรวงกับกระทรวงเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ได้จัดทำความร่วมมือระดับหน่วยงานกับหน่วยงาน โดยได้กำหนดขอบเขตการเสริมสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาความมั่นคงในทุกมิติ ร่วมกันพัฒนาระบบวิจัย ระบบงานมาตรฐาน โครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยหวังว่าจะเกิดการบูรณาการของบุคลากร และองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความมั่นคงสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แบบพึ่งพาตนเองและประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การร่วมการลงนามในวันนี้ นับเป็นครั้งแรก และเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกระทรวงกลาโหม นอกจากกระทรวงจะมีภารกิจในการปกป้องเอกราช รักษาอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติและประชาชน โดยยึดมั่นสถาบันหลักและประชาชนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้มีความเข้มแข็งตามนโยบายรัฐบาล เพื่อการผลิตและนำมาใช้ในลักษณะพึ่งพาตนเอง และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในอนาคต อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมอบหมายการกำกับงานด้านการวิจัย และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาพรวมของ กห. ให้แก่กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) และบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกเหล่าทัพ บันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการแสดงถึงจุดยืนในความร่วมมือ รวมพลังกันขับเคลื่อนงานวิจัย และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง โดยมีการบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน ทั้งบุคลากร เครื่องมือ และองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความมั่นคงต่อไป สนองตอบนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง
พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม เปิดเผยว่า บันทึกความร่วมมือดังกล่าว แสดงถึงเจตจำนงร่วมของสองหน่วยงาน โดย กห. และ อว. ได้ดำเนินความร่วมมือกันทันทีหลังลงนาม ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาระบบเฝ้าตรวจแจ้งเตือนชายแดน โดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อยอดวิจัยและพัฒนาด้วยภูมิปัญญาไทย นำเทคโนโลยีและงานวิจัยที่มีอยู่มาต่อยอดบูรณาการจัดสร้างและพัฒนาระบบเฝ้าตรวจแจ้งเตือนชายแดนเชิงรุก ประกอบด้วย อากาศยานไร้คนขับโซล่าร์เซลพร้อมกล้อง รั้วไร้สาย กล้องเฝ้าตรวจและลาดตระเวนติดตั้ง AI บริเวณชายแดนและตามด่าน เรือลาดตระเวนไร้คนขับ รวมทั้งระบบสื่อสารความเร็วสูงเชื่อมโยงการประมวลผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าตรวจและป้องกันชายแดนทางบกยาว 5,656 กม.และทางน้ำที่ติดประเทศเพื่อนบ้าน จากปัญหาภัยยาเสพติด การค้าอาวุธสงครามและสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ ที่เป็นปัญหานำพาและแพร่กระจายโรคระบาดรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยจะเร่งทดลองนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออกและขยายผลพัฒนาสู่การใช้งานจริงให้ครอบคลุมทุกภาคโดยเร็ว
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของ วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนานักวิจัย ผลงานวิจัย และนวัตกรรมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง เพื่อขยายผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปสู่การใช้งานในภารกิจด้านความมั่นคง ตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคงสูงสุด และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม วช. และกระทรวงกลาโหม โดยกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) จึงได้มีความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนานักวิจัย ผลงานวิจัย และนวัตกรรม ด้านความมั่นคง เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านความมั่นคง รวมถึงผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความมั่นคงของประเทศให้เข้มแข็ง สามารถขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในภารกิจด้านความมั่นคง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดย วช. ได้สนับสนุนการขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในการดําเนินแผนงาน “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบเฝ้าตรวจแจ้งเตือนพื้นที่ชายแดน ภาคตะวันตกและ ตะวันออก” ที่ช่วยสร้างความมั่นคงของประเทศให้มีความปลอดภัย ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาใน ภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยโครงการภายใต้แผนงานดังกล่าวจํานวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.) โครงการ “รั้วไร้สาย” โดยสํานักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) 2.) โครงการ “กล้องเฝ้าตรวจและลาดตระเวน M-CAP” โดยสํานักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) 3.) โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์สมรรถนะสูงเพดานบินต่ำ เพื่อการเฝ้าตรวจเชิงรุกทางอากาศตามแนวชายแดนเพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่นคง”โดยโรงเรียนนายเรืออากาศ นวมินทกษัตริยาธิราช (รร.นนก.) และ 4.) โครงการ “การเชื่อมโยงการสื่อสารความเร็วสูงดิจิทัลและดิจิทัลวอร์รูมระบบเฝ้าตรวจ แจ้งเตือนตามแนวชายแดน” โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเป็นแผนงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการในแนวชายแดนพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ซึ่งจะเป็น Platform ในการขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่แนวชายแดนของภูมิภาคอื่น ๆ ในระยะต่อไป