ADS


Breaking News

“เอนก” ชี้เป้างานวิจัยและนวัตกรรม “ดีด” ไทยพ้นรายได้ปานกลาง ต้องก้าวกระโดด คิดยุทธศาสตร์ และรบให้ชนะ

     “เอนก” ชี้เป้างานวิจัยและนวัตกรรม ต้องสร้างประเทศให้มีความเป็นอารยะ ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนฯ “ดีด” ไทยพ้นประเทศรายได้ปานกลางภายใน 7 ปี เผยต้องทำวิจัยแบบก้าวกระโดด คิดแบบมียุทธศาสตร์ และต้องรบให้ชนะ ระบุ อว.มีเอกอัครราชทูตต่างประเทศมาพบเป็นอันดับ 2 รองจากกระทรวงการต่างประเทศ  เพราะรู้ว่าเราทำได้   
     เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวแถลงนโยบายในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการประชุมวิชาการระดับชาติภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนภิเษก(คปก.) และโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ประจำปี 2564 (The 2021 National RGJ and RRI Conferences) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนไทยโดยคนวิจัยกับโจทย์ท้าทายในยุควิถีใหม่” จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ว่า  เป้าหมายงานวิจัยและนวัตกรรมคือ การสร้างประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีความเป็นอารยะ สำหรับ อว.การที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  จะต้องมีการใช้วิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาเป็นแผนในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ ใช้ศิลปะวิทยาการทั้งปวง ไม่ใช่สอนหรือเรียนไปตามประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ทำนวัตกรรมเพื่อนวัตกรรมอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ในศิลปะวิทยาการ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ในการขับเคลื่อน หรือเรียกว่าเป็นการ “ดีด” ประเทศไทยให้พ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
     รมว.อว. กล่าวว่า ดังนั้น การทำวิจัยแบบเรื่อย ๆ ทุกหัวข้อตามแบบชาติอื่น ๆ ก็เหมือนเราเอางบประมาณมาถมในหลุมที่มีจำนวนมาก เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะถมหลุมทุกหลุมให้เต็ม  เราต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ต้องมีจุดโฟกัสและต้องไม่พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป  แต่ต้องมีเป้าของเราให้ชัดเจน คือ ต้องทำให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 20 ปี  แต่สำหรับ อว.ควรทำให้ได้ภายใน 7 - 10 ปี  ตัวเลข 7 ปีนี้เอามาจากการที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมหน่วยงาน/สถาบันต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่มีเป้าในการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า ถือเป็นหมุดหมายที่อยากเห็น  ทุกเรื่องต้องตั้งเป็นธงให้ชัดเจน  
    ศ.ดร.เอนก กล่าวอีกว่า การออกจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา  ทำได้ 2 ทาง  เรามีดีเอ็นเอ ที่เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อยู่แล้ว  ส่วนในเรื่องของเศรษฐกิจที่มาจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เราก็ทำได้ดี แต่เราต้องเลิกความคิดที่ว่าพึ่งพาเทคโนโลยีคนอื่น  นโยบายของ อว. ไม่ควรเป็นนโยบายวิทยาศาสตร์ของประเทศกำลังพัฒนา แต่ต้องเป็นนโยบายวิทยาศาสตร์แบบประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่  1.อย่าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป  ต้องทำอะไรแบบก้าวกระโดดใหญ่ๆ อะไรที่จะทำให้เราก้าวกระโดดใหญ่ๆ ได้ เราต้องทำ  2. ต้องทำอะไรที่เป็นบายพาส (Bypass) หรือทางลัดให้ได้ การเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ต้องคิดแบบมียุทธศาสตร์คือ ต้องรบให้ชนะ  ไม่ว่าจะเป็นทางเลี่ยง ทางเบี่ยง ทางลัด ก็ต้องหาทางให้ได้ และ 3. เราจะต้องทราบว่าเวลานี้เราอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ซีกตะวันออกมีความสำคัญขึ้นมาก ไม่ใช่ทางตะวันตกเท่านั้น  เราต้องใช้ประโยชน์จากการขัดแย้ง และประชันขันแข่งของสองทวีปนี้ให้ได้มากที่สุด  
     “อว.เป็นกระทรวงที่เอกอัครราชทูตต่างประเทศมาพบเป็นอันดับสองรองจากกระทรวงการต่างประเทศ  เพราะเขารู้ว่าเราทำได้  เขาก็ต้องการมาขาย มาขอความร่วมมือ  มีบางประเทศที่เขาเก่งและเราละเลยที่ผ่านมา  อย่างสวิตเซอร์แลนด์ เป็นอีกประเทศที่มีความน่าสนใจและยังมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง  เราต้องพยายามมองหาสิ่งที่จะพลิกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 5G, 6G, AI ถ้ามีคนที่จะไป 6G  เราก็ต้องขยับไปตรงนั้นให้เร็ว  เราควรมีการทำงานและคิดข้ามศาสตร์สาขา  ต้องกล้าคิดที่จะทำ เปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติ   ให้เชื่อมั่นว่าเรามีอนาคตทางวิทยาศาสตร์ วิจัย เหมือนเรื่องยานอวกาศไปดวงจันทร์ ที่คนไทยคิดว่าเป็นเรื่องพูดเล่น แต่ความจริงเป็นเรื่องที่ไทยเราทำได้” ศ.ดร.เอนก กล่าว
     ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. มีหน้าที่สำคัญในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ในครั้งนี้ วช. ลงนามความร่วมมือโครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอก กับกรมวิชาการเกษตร และลงนามความร่วมมือการร่วมสนับสนุนทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทั้งสองโครงการนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ อีกทั้ง เป็นการช่วยสนับสนุนและผลักดันให้นำผลงานไปใช้ประโยชน์ ทั้งมิติวิชาการและมิติสังคม