ADS


Breaking News

"GIT World’s Jewelry Design Award ครั้งที่ 15" คึกคัก! ไทย-เทศ พลิกโควิดเป็นโอกาส แห่ส่งผลงานเข้าประกวดล้น

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 : สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (องค์การมหาชน) เฟ้นหา 4 ผลงานชิ้นเยี่ยมจากชิ้นงาน 402 ชิ้นที่นักออกแบบจากทั่วโลกส่งเข้าประกวดชิงรางวัล GIT World’s Jewelry Design Awards ครั้งที่ 15 เพื่อผลิตเป็นเครื่องประดับต้นแบบ อวดโฉมและประกาศผู้ชนะรางวัลในเดือนกันยายน นี้


การประกวดในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Intergeneration Jewelry" - jewelry for every generation ซึ่งเปิดกว้างให้นักออกแบบได้สร้างสรรค์ผลงานเต็มที่ ไม่จำกัดวัสดุที่ใช้ ซึ่งนอกจากความสวยงามของดีไซน์แล้ว เครื่องประดับที่ผ่านการคัดเลือก ยังต้องมีความพิเศษมากขึ้นและก้าวข้ามข้อจำกัดของเจนเนอเรชั่นอีกด้วย ซึ่งปีนี้ มีนักออกแบบจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดรวม 402 ชิ้นงาน จาก 27 ประเทศ โดยมีนักออกแบบต่างชาติส่งชิ้นงานจำนวน 238 ชิ้นงาน จาก อิหร่าน มาเลเซีย อียิปต์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น และจากประเทศไทย 164 ผลงาน

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า การประกวดครั้งนี้ เราหวังจะได้เห็นผลงานออกแบบใหม่ๆ ที่ฉีกกรอบเดิม และสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเปิดให้นักออกแบบนำวัสดุใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งนวัตกรรมอื่นๆ มาออกแบบตามความเหมาะสม และจะต้องสามารถนำมาพัฒนาเป็นจิวเวลรี่ที่จำหน่ายได้จริง และจากผลงานที่ส่งเข้าประกวด เราจะเห็นได้ถึงเทรนด์ในการออกแบบซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลกที่น่าสนใจ  ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสำหรับนักออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย สำหรับรอบการตัดสินแบบวาดในวันนี้ สถาบันได้รับเกียรติจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก 

อาทิ นางสิริพร ภาณุพงศ์ รองประธานกรรมการ สำนักกฎหมาย Royal Law , ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ , นางสาวสิริน ศรีอรทัยกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัทบิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด , นายชาญชัย เลิศกุลทานนท์ Vice President, Global Business Relations บริษัท PANDORA PRODUCTION , ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ L.S. Jewelry Group (Lee Seng Jewelry) , Professor Paolo Torriti: Professor at the University of Siena , Italy และ Mr. Saeed Mortazavi Founder & CEO of Mortazavi Design Academy, Iran, Professor Kwon Ju Han: Dean, College of Convergence Arts, College of Art and Design, Daegu University, Republic of Korea เป็นผู้ตัดสินผ่านช่องทางออนไลน์ 

โดยเบื้องต้นสถาบันจะตัดสินรอบคัดเลือกแบบวาด และคัดเลือกจนเหลือ 30 แบบ และเลือกเฟ้นหาแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 แบบวาด เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับขึ้นโชว์ผลงานพร้อมเหล่านางแบบในรอบชิงชนะเลิศ 


ซึ่งผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินชิงชนะเลิศ มีดังนี้

1. นาย สุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา จากประเทศไทย ชื่อผลงาน ความเชื่อในตรีโกณมิติ (Trigonolism) 

2. นางสาว พรนภา เด่นจารุกุล และนางสาว ภัสภา โพธิ์อุบล จากประเทศไทย ชื่อผลงาน D-N-A

3. นาย จิรวัฒน์ สมเสนาะ จากประเทศไทย ชื่อผลงาน รูปทรง เรขาคณิต (Geometry) 

4. Mrs. Soheila Hemmati จากประเทศอิหร่าน ชื่อผลงาน Pearls for all generations


สำหรับการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ และการประกาศรางวัล มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2564  ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จากนั้นสถาบันจะนำผลงานการออกครั้งนี้ไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมถึงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ GIT Gem and Jewelry Museum เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกของประเทศไทย” (Thailand’s Gems and Jewelry Hub of The World)

ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปชมผลงานผู้ที่ผ่านรอบแรก ได้ที่ www.facebook.com/gitwjda 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 02 634 4999 ต่อ 311-313