ADS


Breaking News

“ตามรอยพ่อฯ” สู่ปีที่ 9 ย้ำ “สื่อพอดี” มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา นำคนไทยสู้ทุกวิกฤตอย่างยั่งยืน

โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ก้าวสู่ปีที่ 9 ตอกย้ำบทบาท “สื่อพอดี”

เดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา ให้คนไทยสู้ทุกวิกฤตอย่างยั่งยืน

จัดกิจกรรมรณรงค์ควบคู่การสร้างองค์ความรู้ผ่านบทเรียนออนไลน์ “คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ”

    โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เดินหน้าสู่ปีที่ 9 ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 มุ่งทำหน้าที่ “สื่อพอดี” ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ชาวไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การลงมือปฏิบัติ อันจะเป็นเกราะป้องกันจากวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน” ด้วยการจัดทำบทเรียนออนไลน์ “คู่มือสู่วิถี     กสิกรรมธรรมชาติ” เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาทฤษฎีและแนวทางการปฏิบัติ พร้อมด้วยคลิปให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจจาก 7 บรมครู เผยแพร่บนเว็บไซต์ของและเฟซบุ๊กของโครงการฯ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่จังหวัดนครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา และกิจกรรมประกาศความสำเร็จ 9 ปีของโครงการที่จังหวัดสระบุรี และรายการ “เจาะใจ” โดยวางมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น 

จัดทัพรับมือโรคระบาด

    ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จ    พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานข้อความ สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย เตือนสติคนไทยผ่าน ส.ค.ส. ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะทำงานยึดมั่นถือมั่นในการทำงานอย่างมีสติมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ของการดำเนินโครงการตามรอยพ่อฯ  ซึ่งไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือวิกฤตใดก็ตาม ทั้งวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง  ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ในการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน ก็จะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนในทุกวิกฤต ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ทั้งยังสามารถแบ่งปันและสร้างรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ความอดอยากขาดแคลนอาหารในโลกจะมีขึ้นอย่างแน่นอน คนที่แม้ไม่เจ็บป่วยก็จะได้รับผลกระทบจากการไม่มีอาหารกิน ฉะนั้นจึงต้องสร้างฐาน พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น ให้แน่น ให้พึ่งตนเองให้ได้จริง ต้องมั่นคงแข็งแรงพอ จึงจะมีกำลังไปช่วยคนอื่นให้รอดไปด้วยกัน โดยเชื่อมั่นว่าความสามัคคีของเครือข่ายและคนไทยทุกคนจะเป็นพลังให้เรารอดจากทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน”

    นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งกับคนไทยทุกคน มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและเครือข่ายจึงได้เตรียมการวางแผนรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ เบื้องต้นได้จัดทัพรับมือโรคระบาด โดยแบ่งทีมทำงานออกเป็น 5 ทีม ได้แก่ 

  1. ทีมบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีหน้าที่รวมรวมข้อมูลแปลงของสมาชิกเครือข่ายทั้งหมดในแต่ละจังหวัด รวมทั้งวัด โรงเรียน ชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลของทุกศูนย์และแปลงของสมาชิกเครือข่าย หากเกิดการล็อกดาวน์จะใช้ข้อมูลนี้ให้ความช่วยเหลือกันได้ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับลุ่มน้ำ  

  2. ทีม CMS (Crisis Management Survival Camp) มีหน้าที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์  แจ้งเตือนภัย เพื่อพัฒนาและเตรียมพร้อมไปสู่ขั้นการเป็นศูนย์พักพิงหลุมหลบภัย หรืออาจไปถึงขั้นเป็น Hospitel ทั้งในระดับ เล็ก(บ้าน) กลาง ใหญ่ โดยยึดหลักป้องกันบำบัด ฟื้นฟู  

  3. ทีมพอรักษา มุ่งเป้าเร่งด่วนเรื่องโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ป้องกัน (ผู้ไม่ป่วย) บำบัด (ผู้ที่ป่วยอยู่) และฟื้นฟู (ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว) โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและยาที่ควรใช้ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ตามข้อมูลจากทางแพทย์แผนปัจจุบัน-ไทย-จีนและทางเลือกอื่น ๆ  

  4. ทีมสื่อพอดี มีหน้าที่นำข้อมูลของทั้ง 3 ทีม มาสื่อสารต่อยอดและเผยแพร่ เพื่อให้ข้อมูล ให้ความรู้ แนะทางออก ผ่านช่องทางทางการเผยแพร่ต่าง ๆ 

  5. ทีมข้อมูล มีหน้าที่จัดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และออกแบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนเครือข่าย เพื่อฝ่าวิกฤตที่กำลังเผชิญในปัจจุบันและอนาคต ในภาวะวิกฤตเช่นนี้เราไม่ควรรอความหวังหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน ต้องพึ่งพาตัวเองและพึ่งพากันเองให้ได้มากที่สุด เชื่อมั่นว่าความสามัคคีของเครือข่ายและคนไทยทุกคนจะเป็นพลังให้เรารอดจากทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน   

โดยที่ผ่านมาเราได้เปิดรับศิษย์ เครือข่าย คนมีใจ และประชาชนที่สนใจมาเป็นอาสาสมัครให้กับทีมงานขับเคลื่อนทั้ง 5ทีม ตามความถนัดเฉพาะด้านของแต่ละคน ซึ่งการรวมกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและพึ่งพากันในยามวิกฤตด้วยองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาจะทำให้เราทุกคนอยู่รอดปลอดภัย” 

ตามรอยพ่อฯ ปี 9 เดินหน้าภารกิจ “สื่อพอดี”

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด เปิดเผยว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ พร้อมที่จะเข้าไปเสริมและสนับสนุนยุทธศาสตร์การเตรียมการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของมูลนิธิฯ อย่างเต็มที่ ในฐานะสื่อพอดี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดการนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการตามรอยพ่อฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 9 ผ่านกิจกรรมลงพื้นที่และการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วประเทศกว่า 20,000 คน และยังมีผู้ที่ได้รับความรู้และแรงบันดาลใจจากสื่อที่โครงการผลิตขึ้นอีกมากมาย โดยเราจะมุ่งทำหน้าที่นี้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องเพื่อสื่อสารว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอดจากทุกวิกฤตอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ โครงการตามรอยพ่อฯ ปี 9 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด 9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน จะเดินหน้าจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ โดยเน้นช่องทางออนไลน์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีไฮไลท์คือการจัดทำบทเรียนออนไลน์คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติในรูปแบบบทความและวีดิทัศน์ บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ รวม 14 บท เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ไปลงมือทำเองได้ หากติดขัดหรือสงสัยเรามีช่องทางถามตอบในสื่อออนไลน์ของโครงการทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊กและไลน์ (@inspiredbytheking)

นอกจากนั้น โครงการตามรอยพ่อฯ ปี9 ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่ จ.นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา ณ พื้นที่ของคนมีใจที่นำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้สนใจได้มาเรียนรู้และเกิดแรงบันดาลใจผ่านการทำกิจกรรมลงแขกอย่างโบราณ และยังกำหนดจะจัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการ 9 ปี ที่   สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ที่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการอีกด้วย โดยจะวางมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและ       การเว้นระยะห่างของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น และส่งท้ายด้วยการรวบรวมคนต้นแบบและบรมครูผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตลอดทั้ง 9 ปี เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจในรายการเจาะใจซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MCOT HD”

สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู้วิกฤต

ด้านนายโจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ และประธานธรรมธุรกิจ กล่าวแนะนำการดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ว่า “เราประเมินไม่ได้ว่าเหตุการณ์จะยาวนานขนาดไหน การรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้วหวังว่าเราจะดีขึ้นเอง ก็ดูจะเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่แทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำ คือ การกลับมาคิดถึงการพึ่งตนเองในเรื่องของอาหารเป็นอันดับแรก เราจะหาอาหารมาจากไหน ถ้าอยู่ในเมืองก็อาจต้องคิดถึงการปลูกอาหารเองง่าย ๆ เช่น การเพาะถั่วงอก หรือการปลูกผักแนวตั้ง อีกวิธีหนึ่งคือการเชื่อมต่อกับกลุ่มเกษตรกรที่เขาทำอยู่แล้ว ให้เขาส่งวัตถุดิบมาให้ ซึ่งควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะปกติด้วย ที่เราควรจะรู้แหล่งที่มาของอาหารที่เราบริโภค ฉะนั้นการเชื่อมต่อกันอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสภาวะปัจจุบัน การหันกลับมาพึ่งตนเองมากขึ้น กลับมาพึ่งกันเองมากขึ้น ต่อให้ระบบพังหรืออะไรจะเกิดขึ้นเราก็ยังอยู่ได้ นี่คือแนวทางที่เราควรจะต้องกลับมาใคร่ครวญพิจารณา เครือข่ายของเรามีครบทุกอย่างไม่ว่าจะข้าว ปลา กะปิ เกลือ ผัก ฯลฯ และยิ่งถ้าคนสนใจทำแบบนี้มากขึ้นจะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ ระบบการค้าแนวใหม่ ที่ทำให้คนได้คุยกันตรงมากขึ้นโดยไม่อ้อม นี่คือสิ่งที่ผมเห็นว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นี่คือแนวโน้มที่จะทำให้เราอยู่ได้ในช่วงโควิด-19” 

    ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org


เกี่ยวกับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ตามแผนหลัก 9 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี ระยะแรก คือ การตอกเสาเข็ม สร้างการรับรู้ ระยะที่ 2 การแตกตัว เป็นการขยายผล สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระยะที่ 3 การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับสู่การแข่งขันได้ ต่อยอดการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ด้วยการเดินตามบันได 9 ขั้น ไปสู่ความพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชา และการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์ เพราะหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนา คือ คน  โครงการจึงพยายามสร้างคน จากคนมีใจ สู่เครือข่าย และแม่ทัพผู้พาทำ เพื่อร่วมกันสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป