ADS


Breaking News

"เอนก" รมว.อว. เร่งปรับ รพ.สนาม รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง

     “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. ระดมกลุ่มโรงพยาบาลหลักของโรงเรียนแพทย์ UHosNet ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ กทม. อย่างใกล้ชิด ปรับ รพ.สนามให้พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง และขยายห้องปฏิบัติการร่วมตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน ด้าน ปลัด อว.ให้จิสด้าใช้ข้อมูลดาวเทียมสำรวจพื้นที่และจุดเสี่ยงพร้อมปรับงบประมาณสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ช่วยหมอแนวหน้า
     เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ อว.ได้สนับสนุนโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ระลอก 3 ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ดังนั้น อว.จะมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ โดยจะขยายกำลังมาดูแลผู้ป่วยกลุ่มเหลือง ส้ม แดง ได้มากขึ้น จากเดิมที่ดูแลกลุ่มเขียวเป็นหลักด้วย รพ.สนาม ทั้งนี้ได้ให้กลุ่มโรงพยาบาลหลักของโรงเรียนแพทย์ UHosNet มาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ กทม. อย่างใกล้ชิดในการรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ส้ม และเหลืองแก่ ส่วน รพ.สนามที่ อว.เปิดดำเนินการอยู่แล้ว จะปรับเพิ่มเติมให้พร้อมรับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเหลืองอ่อน เหลืองเข้ม ส้ม ตามความเหมาะสม
     รมว.อว.กล่าวว่า นอกจากนี้ อว.จะเตรียมความพร้อมทางอาคาร สถานที่และนวัตกรรม ในกรณีที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น รพ.สนามสำหรับสีเหลืองส้ม ICU สนาม เพื่อเป็นกำลังหนุน โดยขอให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหน่วยงานอื่นๆ เข้าช่วย โดยประสานร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย รวมทั้งสนับสนุนห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรองและการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน โดยคณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นหลัก
   ด้าน ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สำคัญ อว.จะสนับสนุนข้อมูลและระบบบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ที่ดำเนินการอยู่แล้ว สำรวจพื้นที่และจุดเสี่ยง โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยทำมาแล้วที่ จ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ อว.ได้ปรับงบประมาณที่มีอยู่มาสนับสนุนนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรแนวหน้า โดยเฉพาะอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95, ชุดหมี PPE, หน้ากากความดันบวกสำหรับบุคลากรการแพทย์ PAPR, High Flow Oxygen system, เครื่องวัด Pulse oximeter, ระบบเอกซเรย์ภาคสนามเคลื่อนที่ เป็นต้น
     โดยให้หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนนวัตกรรมที่ใช้งานได้และมีสายการผลิตแล้ว มาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำงานร่วมกับเอกชน ทั้งนี้หน่วยงานที่มีนวัตกรรม และบริหารจัดการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการทำงานของ ศบค. ซึ่งมี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เป็นต้น 
     ตอนนี้ cluster ผู้ป่วย COVID ในชุมชนคลองเตย จะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในการระบาดรอบนี้ ตอนนี้มีประชาชนในชุมชนน่าจะ 80,000-90,000 คน ที่ทำงานกระจายกันอยู่ทั่ว กทม และมีผู้ที่ป่วยในชุมชนน่าจะเป็นจำนวนมาก มีการทำการตรวจเชิงรุก พบว่ามีอัตราการติดเชื้อประมาณ 5-10% ที่ รพ จุฬา พบผู้ป่วยปอดอักเสบจากชุมชนคลองเตยที่มารักษาตัวมากขึ้นในระยะนี้