การดูแลผิวหนังผู้สูงวัย
ศ.คลินิค พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน ประธานฝ่ายแพทย์และจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งผิวหนังซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่นอกสุดของร่างกาย และมีขนาดใหญ่ที่สุด จะพบได้จากอายุที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ แสงแดด, มลภาวะ, ควันบุหรี่, ความเครียดและแอลกอฮอล์ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเมื่อสูงวัยขึ้นจะเกิดขึ้นกับชั้นผิวหนังทั้ง 3 ชั้นคือ หนังกำพร้า หนังแท้และชั้นไขมัน
ชั้นหนังกำพร้าเป็นชั้นนอกสุดจะมีลักษณะบางลง หากเกิดแผลการซ่อมแซมจะช้าลง ผิวหนังแห้งมากขึ้น เนื่องจากต่อมไขมันผลิตลดลง ผิวผู้สูงวัยจึงขาดไขมันเคลือบผิวทำให้การสูญเสียน้ำจากผิวเพิ่มขึ้น
ชั้นหนังแท้ ส่วนประกอบสำคัญคือคอลลาเจนและอีลาสติก หน้าที่หลักคือ การทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นและช่วยในการยึดเกาะของเส้นเลือด ดังนั้นเมื่อสารเหล่านี้ลดลงจะพบรอยย่นสึก ผิวหนังหย่อนคล้อย และการเกิดจ้ำเลือดง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกแสงแดดเสมอ เช่น บริเวณแขนด้านนอกหรือหลังมือ เนื่องจากการลดลงของคอลลาเจนจะเพิ่มมากขึ้นหากผิวหนังบริเวณนั้นถูกแสงแดดเสมอ
ชั้นไขมันก็จะลดความหนาลงด้วย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า โหนกแก้ม ซึ่งจะทำให้รูปหน้าเปลี่ยนไปจากใบหน้ากลมในวัยเด็ก
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความแตกต่างกันตามพันธุกรรมและเชื้อชาติ โดยคนไทยซึ่งเป็นคนเอเชีย อาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศที่ไม่หนาวจัด ความชื้นสูง ดังนั้นปัญหาผิวแห้งจะรุนแรงน้อยกว่าในพื้นที่อากาศหนาวเย็นและมีความชื้นต่ำ แต่คนไทยอาศัยในพื้นที่ ที่มีแสงแดดจัด ซึ่งแสงแดดประกอบด้วยแสง 3 ประเภท คือ 1. แสงที่ให้ความสว่าง 2.แสงอินฟราเรดที่ให้ความอบอุ่น 3.แสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นแสงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและมีปริมาณเพียง 5% ของแสงแดด แต่มีพลังงานสูงและมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผิวชราเพิ่มขึ้น ผิวหนังของคนไทยมีเซลล์สร้างสีจึงผลิตสารเมลานินที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดจับ พลังงานและแสงแดดทุกประเภท ดังนั้นจึงจะมีการทำลายของสารคอลลาเจนช้ากว่าและพบมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนผิวขาวตาสีฟ้ามาก แต่ข้อเสียคือผิวคล้ำหรือมีกระดำได้เร็วกว่าคนผิวขาว
การดูแลผิวหนังของผู้สูงวัย จึงประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การป้องกันและการรักษา
การป้องกัน คือการหลบเลี่ยงแสงแดดจัดในช่วง 10.00น. – 15.00 น. การอยู่ในที่ร่ม กางร่ม สวมเสื้อผ้าปกคลุม สวมหมวกปีกกว้างและหนา สวมแว่นกันแดด และใช้ครีมกันแดดบริเวณผิวหนังที่ไม่สามารถปกคลุมด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้ว เช่น บริเวณใบหน้าและหลังมือ เป็นต้น
ข้อจำกัดของครีมกันแดด คือไม่สามารถกันแสงแดดได้ทั้ง 3 ประเภทจะกันได้ดีมากสำหรับแสงอัลตราไวโอเลตและจะเสื่อมสภาพไปหากถูกน้ำหรือการเช็ดถู และการทาไม่ทั่วถึงตามคำแนะนำที่กำหนด คือ 2 มก./ผิวหนัง 1 ตร.ซม.ประสิทธิภาพของครีมกันแดดก็จะลดลง ผู้สูงวัยที่ป้องกันแสงแดดอย่างสม่ำเสมอควรต้องรับประทานวิตามินดีเสริมเพิ่มเนื่องจากแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB) จากแสงแดดเป็นปัจจัยกระตุ้นการผลิตวิตามินดีที่ผิวหนัง
มลพิษเป็นปัญหาสำคัญของทวีปเอเชีย โดยมลพิษอาจจะผ่านผิวหนังหรือเกิดจากการสูดดม เมื่อผิวหนังสัมผัสมลพิษ จะทำให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระและการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระที่ผิวหนัง เช่น วิตามินซี วิตามินอี การสัมผัสสาร PM 2.5 จะเพิ่มความชราของผิวหนัง ได้แก่ รอยย่น กระดำ และลดการซ่อมแซมของผิวหนัง
การรักษาหลัก คือ ลดการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก 6 ประการและการลดความแห้งของผิวหนัง โดย 1.ลดการใช้น้ำร้อนและอุ่นจัดในการอาบน้ำ 2.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดควรเลือกที่มีความเป็นด่างน้อย ค่า pHประมาณ 5-6 มีความชุ่มชื้นหลังจากล้างออก เป็นสบู่สังเคราะห์ก้อนหรือเหลวก็ไม่แตกต่างกัน แต่ไม่มีความจำเป็นต้องมีสารประกอบเป็นพิเศษหรือมีราคาสูง หากไม่สามารถหาได้สามารถใช้สบู่ทั่วไปแต่ฟอกบริเวณ มือ เท้า รักแร้ ใต้ร่มผ้า เท่านั้น แต่งดบริเวณ แขน ขา ลำตัว ซี่งการใช้เพียงน้ำเปล่าล้างก็สะอาดเพียงพอแล้ว 3.ทาสารให้ความชุ่มชื้น เช่น โลชั่น ครีม น้ำมัน หรือขี้ผึ้งทันทีหลังอาบน้ำไม่นานกว่า 5 นาที เลือกให้เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น ฤดูร้อนควรใช้โลชั่น ฤดูหนาวควรใช้ครีมหรือน้ำมัน ความถี่อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน โดยในช่วงที่มีอากาศหนาวและแห้งควรทาครีมทุก 4 ชม. และควรใช้ผ้าชุบน้ำประคบผิวก่อนทาครีมทุกครั้งหากไม่ได้ทาทันทีหลังอาบน้ำ 4.เลือกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับอากาศ และ 5.หากมีอาการคันร่วมด้วย มักจะพบบริเวณหน้าแข้งหรือลำตัวบริเวณสะโพก ควรทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นทุก 4 ชม. หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และ 6. หากผื่นคันไม่ดีขึ้นหลังเปลี่ยนวิธีอาบน้ำและทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากอาการคันที่ผิวหนัง นอกจากปัญหาความแห้งของผิวหนังแล้ว อาจเกิดจากยาที่รับประทานหรือโรคภายในร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ ได้
สำหรับปัญหาที่ผู้ป่วยหลาย ๆ คน มักจะเป็นกังวล คือ มะเร็งผิวหนัง ซึ่งพบได้บ่อยมากในชาวตะวันตก โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น อาบแดด แต่สำหรับคนไทยหรือคนเอเชียทั่วไป ปัญหามะเร็งผิวหนังพบอุบัติการณ์ที่ต่ำมากเนื่องจากคนไทยมีผมดำ ตาดำ มีเมลานินช่วยในการกรองแสงแดดและไม่ชอบกิจกรรมกลางแจ้งหรือผิวสีแทน นอกจากนี้ผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอกสุด จึงสามารถมองเห็นรอยโรคได้รวดเร็วและชัดเจน กว่ามะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ
สำหรับมะเร็งผิวหนังมี 3 ชนิด มักพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเสมอ เช่น ใบหน้า ริมฝีปากล่าง แขนด้านนอก หน้าอก หลัง ชนิดที่ 1. พบได้มากที่สุด เกิดจากเซลล์ผิวหนังล่างสุดของหนังกำพร้า เรียกว่า Basal Cell Carcinoma ลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีเหมือนผิวหนังหรือสีดำ โตช้า หากมีขนาดใหญ่อาจมีแผลตรงกลาง ชนิดที่ 2. เกิดจากผิวหนังชั้นหนังกำพร้าส่วนบน เรียกว่า Squamous Cell Carcinoma อาจมีลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือเป็นแผลตื้นขยายออกช้า ๆ ชนิดที่ 3. เกิดจากเซลล์สีดำหรือไฝขนาดใหญ่ที่มีมาแต่กำเนิด เรียกว่า Melanoma เป็นชนิดที่มักกระจายได้เร็วจึงอันตรายกว่า 2 ชนิดแรก และพบได้น้อยที่สุดในมะเร็งผิวหนังทั้งหมด คนไทยพบประมาณ 0.5 คนต่อประชากร 100,000 คน มักพบบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้ว ใต้เล็บ
ดังนั้นหากมีตุ่มนูนหรือแผลเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน ควรมาพบแพทย์และหากมีไฝหรือจุดดำบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้ว ขนาดใหญ่กว่า 0.5 ซม. ควรมาพบแพทย์เช่นกัน