ADS


Breaking News

วช. หนุน ม.นเรศวร นำงานวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมที่สำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เป็นแห่งแรกที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมจากหน่อข้างพันธุ์ดี โดยเริ่มเผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งแรกในวารสารเชิงวิชาการ “วารสารพืชศาสตร์สงขลานครินทร์ ปีที่ 3 (พิเศษ 1)” และ “วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ฉบับ 47 (พิเศษ 3)” ในปี 2559 และนับเป็นการสร้างความฮือฮาในวงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในประเทศไทยเป็นอย่างมาก นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการเกษตร และปลุกกระแสอินทผลัมให้เป็นที่สนใจของคนไทย

จนมาถึงปัจจุบัน นักวิจัยได้พัฒนางานวิจัยและต่อยอดเพื่อหวังผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมให้ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ ในปี 2564 ทีมวิจัยได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง การคัดเลือกสายพันธุ์และการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัมเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัย ให้กับบริษัทเอกชน เพื่อลดการนำเข้าต้นพันธุ์อินทผลัมจากต่างประเทศ และให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมส่งออกในอนาคต

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า “อินทผลัมเป็นพืชที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี หากมีการจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี ได้แก่ ดิน ปุ๋ย และน้ำ จะยิ่งทำให้ต้นอินทผลัมมีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง ถึงแม้เราจะทราบกันดีว่าอินทผลัมสามารถทนแล้งได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าอินทผลัมชอบแล้ง พืชทุกชนิดหากได้รับปริมาณธาตุอาหารและน้ำอย่างเหมาะสมก็จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรไม่ควรปล่อยปะละเลยเรื่องแมลง โดยเฉพาะด้วงงวง ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญมาก เมื่อตัวเต็มวัยวางไข่และตัวอ่อนเจริญเต็มวัยกัดกินยู่ภายในลำต้นอินทผลัมแล้วเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดได้ ส่วนใหญ่ต้นอินทผลัมที่ถูกด้วงงวงทำลายมักจะตายในที่สุด ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจแปลง และป้องกันกำจัดด้วยกลวิธีและใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย”
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ยังกล่าวต่ออีกว่า “ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าตันพันธุ์อินทผลัมจากแลปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างประเทศ จึงทำให้ราคาสูงและราคาเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันนักวิจัยในประเทศก็มีองค์ความรู้และมีฝีมือไม่แพ้นักวิจัยต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ไม่มากเท่ากับนักวิจัยในต่างประเทศก็ตาม ในอนาคตเรา (ประเทศไทย) ก็หวังจะเป็นผู้ผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมที่สำคัญในภูมิภาคนี้”
ดร.นพรัตน์ อินถา นักวิจัย ได้กล่าวว่า “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมเพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ดีเพศเมีย จะต้องนำหน่อข้างหรือช่อดอกมาเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ หรือ เลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ เพื่อชักนำให้เกิดแคลลัส (callus) จากนั้น จึงชักนำให้เป็นต้นอ่อนขนาดเล็ก จากนั้นชักนำให้เกิดราก และเลี้ยงจนได้ต้นอ่อนที่ใบและรากที่สมบูรณ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงย้ายออกจากขวดหรือหลอดทดลอง แล้วนำไปปลูกอนุบาลในโรงเรือนอนุบาลพืช อีกประมาณ 12 เดือน จึงจะนำไปปลูกในแปลงปลูกได้ แต่หากต้องการต้นพันธุ์จำนวนมากก็ต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นไปตามจำนวนต้นพันธุ์ที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ไม่ควรเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อเป็นระยะเวลานาน หรือ ไม่ควรนำแคลลัสไปเพิ่มปริมาณหลายรอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความแปรปรวนทางพันธุกรรมอันเนื่องมากจากการโคลน (Somaclonal variation) ได้”
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ได้กล่าวปิดท้ายว่า “นอกจากอินทผลัมแล้วเรายังได้ทำการวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชนิดอื่น ๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอมก้นจีน อ้อยปลอดโรคใบขาว กล้วยไม้สกุลต่าง ๆ กัญชง และสตรอว์เบอร์รี อีกด้วย คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความมุ่งมั่นที่จะทำการศึกษาวิจัย และนำองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศ เราได้นำองค์ความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของคณะฯ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการปฏิบัติงาน มีความรอบรู้ ทันต่อเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลก และที่สำคัญบัณฑิตจะต้องเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บัณฑิตด้วย”

แคลลัส (callus) ที่เกิดจากหน่อข้างอินทผลัมภายหลังเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อเป็นระยะเวลา 7 เดือน

การพัฒนาจากแคลลัสไปเป็นต้นอ่อนของอินทผลัม

ต้นอ่อนอินทผลัมที่เพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง

ต้นอ่อนอินทผลัมที่เพาะเลี้ยงในขวดและมีรากที่สมบูรณ์

การย้ายออกปลูกเพื่ออนุบาลต้นอ่อนอินทผลัมในโรงเรือนอนุบาลพืช